Makoto Marketing (การตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น)

ทำสินค้าที่ลูกค้า 1 คนซื้อ 100 ครั้ง
ดีกว่าสินค้าที่ลูกค้า 100 คนซื้อแค่ครั้งเดียว

น่าจะเป็นปรัชญาที่อยู่ภายใต้หนังสือการตลาดที่ใช้หัวใจนำเล่มนี้

ที่หยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเพราะเก๋เป็นอีกคนที่สงสัยว่าเพราะเหตุใด
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ
หลาย ๆ สินค้าและบริการในญี่ปุ่นจึงสามารถ
อยู่ในตลาด “ยืนยาว” ไปกับลูกค้าได้อย่าง “ยั่งยืน”
.
กับเคสธุรกิจกว่า 20 เรื่อง
ที่ผู้เขียนหรืออาจารย์เกด
บรรจงผูกเรื่องราวเริ่มต้นจากบริบทไทย
ข้ามไปฟังข้อคิดและแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่น
แล้วพาวกกลับมาประยุกต์ใช้กับสินค้าไทย ๆ ได้อย่างแยบยล
.
สิ่งที่น่าสนใจคือความงดงามและความสอดคล้องในแบบ Makoto
ซึ่งเก๋ขอขมวดและดึงบางประเด็นขึ้นมาดังนี้
.
1. Purpose – Product – Persistence
.
ทุกธุรกิจที่อาจารย์เกดกล่าวถึงในหนังสือ
ล้วนสร้างมาจากจุดยืนและจุดแข็ง
ถึงแม้ว่าการขยายโอกาสทางธุรกิจเป็นเรื่องที่จำเป็น
แต่หลายตัวอย่างในหนังสือชี้ให้เห็นว่าไม่ควรกระโดดไปทำเรื่องที่ไม่ถนัดหรือไม่มีความเชื่อ
.
ตัวอย่างแบรนด์ชา Ippodo กว่า 300 ปีที่ไม่ยอมขายสินค้าอื่น
และปฏิเสธการใช้ดารา นักแสดง หรือ Influencer ในการโปรโมต
แต่สามารถขายใบชาราคาแพง ๆ กิโลกรัมละเป็นแสนเยน
.
โดยใช้วิธีสร้างประสบการณ์จากความเชี่ยวชาญ
สอนให้ลูกค้ารู้จักวิธีดื่มชาให้อร่อย
และแฝงไว้ด้วยเสน่ห์ของการชงใบชา
เป็นความเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก ในแบบฉบับญี่ปุ่น

ถึงตอนนี้สงสัยไหมคะว่าจะ “รอด” อย่างไร
ในโลกความเป็นจริงที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง
มาดูตัวอย่างร้านขนม 500 ปีอย่าง “โทระยะ” กันค่ะ
.
ร้านขนมนี้ใช้วัตถุดิบอย่างดีไม่ต้องสงสัย
แถมได้รับความไว้วางใจให้เป็นร้านขนม
ส่งถวายจักรพรรดิ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1586
กว่าหลายร้อยปีที่ผ่านร้อนหนาว เขาเผชิญกับอะไรบ้าง
.
– สงครามโลกครั้งที่ 1 พลิกตนเองมาทำร้านกาแฟชั่วคราว
เพราะวัตถุดิบขาดแคลน
– สงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ใบปลิวโฆษณา เพิ่มบริการส่งถึงบ้าน
เพราะกำลังซื้อของลูกค้าลดลง
– ปี 1960 นำร้านขึ้นไปตั้งบนห้างตามยุคการได้รับความนิยมของห้างสรรพสินค้า และใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการ
– ปี 1970 เริ่มใช้เครื่องจักรผลิตขนมและจัดระบบโรงงาน
(คงมาพร้อม ๆ กับยุคสมัยที่ทฤษฏีการบริการจัดการกำลังแพร่หลาย)
– ปี 1980 ขยายตลาดไปต่างประเทศโดยเริ่มเปิดร้านขนมที่ประเทศฝรั่งเศส ตามยุคสมัยที่ญี่ปุ่นเริ่มคลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตก
– ปี 2000 ร้านขนมในฝรั่งเศสได้รับเลือกให้เป็นคาเฟ่ชื่อดังอันดับ 3 ในปารีส หลังความพยายามเกือบ 20 ปี ในการ Educate ชาวปาริเซียงให้รู้จักขนมวุ้นถั่วแดงแบบญี่ปุ่น
(และเก๋เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อแบบชาวญี่ปุ่น
บางร้านอาจจะปิดกิจการไปก่อนหน้านี้นานแล้วก็ได้)
.
สุดท้ายเก๋ได้เรียนรู้ถึงปรัชญาแบบญี่ปุ่นว่า
ถึงสินค้าและบริการจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเพียงใด
แก่นที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ความรู้สึกขอบคุณลูกค้า และอยากส่งมอบความสุข โดยใช้สิ่งที่ตนเองเชื่อและมีความถนัดเป็นจุดยืน

2. Problem – People – Promote
.
จุดเริ่มต้นของธุรกิจคือการแก้ปัญหา
หลายบริษัทในญี่ปุ่นพร่ำสอนให้พนักงาน
อย่าจดจ่อแค่ไล่ล่าตัวเลขยอดขาย
แต่ให้ใส่ใจในปัญหาของลูกค้าแล้วทำให้สุดกำลัง
.
อาจารย์เกดใช้คำเปรียบเทียบว่า
เป็นการบริหารทีมแบบ “วงออร์เคสตร้า
กล่าวคือทำงานแบบสอดประสานและให้โอกาสพนักงาน
ได้เสนอความคิดเห็น
ที่เป็นการช่วยลูกค้าให้ได้รับสินค้าและบริการที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น
.
สมการในหัวจึงถูกสลับลำดับจาก
หากเราสำเร็จ => ก็จะมีความสุข
เป็นการทำให้ลูกค้ามีความสุข => เมื่อนั้นสินค้าและบริการก็จะประสบความสำเร็จ
.
แต่เราจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไร
ลูกค้าจึงจะได้รับทราบความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะให้ลูกค้ามีความสุข (หรือคลายทุกข์) จากสินค้าและบริการที่ถูกสรรสร้าง
มาดู Storytelling สไตล์ญี่ปุ่นกันค่ะ
.
พวกเราเคยคิดจะซื้อเครื่องปิ้งขนมปัง
ราคาแตะหมื่นบาทกันไหมคะ
ใช่ค่ะ เก๋กำลังพูดถึง Balmuda The Toaster
เครื่องปิ้งที่แพงกว่าแบรนด์อื่น 8 เท่า
แต่ขายได้กว่า 100,000 เครื่อง


บริษัท Balmuda เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ที่เจ้าของลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 17 ปี
แล้วแบกเป้เดินทางไปสเปน อิตาลี โมร๊อกโกอยู่ 1 ปี
ตอนถึงสเปนวันแรกนั้นคุณเจ้าของน้ำตาไหล
เมื่อได้กลิ่นและได้ชิมขนมปังหอม ๆ อุ่น ๆ
หลังจากที่เดินทางมาเหนื่อยแสนเหนื่อยทั้งเมื่อยและเพลีย
นับเป็นความประทับใจที่ยากจะลืม
.
ในปี 2014 ขณะที่เขาและทีมงานกำลังจะปิ้งบาร์บีคิว
จู่ ๆ ฝนก็เกิดตกลงมาอย่างหนัก
เลยปิ้งบาร์บีคิวกลางสายฝน
ฝ่าย R&D วันนั้นหิ้วขนมปังติดมาด้วย
เลยได้ปิ้งขนมปังข้าง ๆ เนื้อย่าง
.
ขนมปังวันนั้นเรียกว่าอร่อยประทับใจ
ด้วยความกรอบของด้านนอก
แต่ยังคงความนุ่มอยู่ด้านในตรงกลางขนมปัง
ความคิดการสร้างเครื่องปิ้งขนมปังจึงเกิดขึ้น
.
แต่การทดลองประดิษฐ์เครื่องปิ้งล้มเหลวไม่เป็นท่า
และไม่สามารถเทียบเคียงความอร่อยของขนมปังในวันบาร์บีคิวได้เลย
ทีมงานสงสัยว่าเป็นเพราะถ่านไม้? ระยะห่างของไฟ? ตะแกรงปิ้ง?
จนใครสักคนเอ่ยขึ้นมาว่า “วันนั้นฝนตกหนักนี่นา”
.
เขาจึงได้คำตอบของเคล็ดลับนวัตกรรมอยู่ที่ความชื้นในการปิ้ง
และนั่นเป็นที่มาของเตาปิ้งขนมปังระบบไอน้ำ
ที่ทำให้ขนมปังอร่อยจนยากจะลืม
จนได้รับการรีวิวจาก Pen Magazine ว่า
“เป็นเครื่องปิ้งขนมปังที่จะทำให้เราอยากตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อกินขนมปังเลย”
.
อ่านเรื่องนี้แล้วคุณผู้อ่านเห็นวิธีการเล่าอย่างไรคะ
อาจารย์เกดไล่เรียงขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้นตอน
1) Inspire
เหตุใดแบรนด์ถึงสนใจผลิตสินค้า เกิดปัญหาอะไรขึ้น
2) Investigate
แบรนด์เผชิญความยากลำบาก หรือผิดพลาดอย่างไร
3) Impact
แบรนด์พบวิธีแก้ปัญหาอย่างไร สินค้าช่วยลูกค้าอย่างไร
สิ่งที่คนกล่าวขวัญถึงแบรนด์ สถิติ
.
เวิร์คไม่เวิร์คไม่รู้ รู้แต่พอเก๋อ่านมาถึงบทนี้
รีบกระโจนไป Search หาเครื่องปิ้งขนมปังดังกล่าวทันที
สุดท้ายตกหลุม Xiaomi ที่โผล่ขึ้นมาบนหน้าจอ Search engine
ด้วยหน้าตาเครื่องปิ้งขนมปังที่ดูผ่าน ๆ แล้วนึกว่าเป็น Balmuda
แต่ราคาย่อมเยากว่าเกือบ 5 เท่า
พร้อมคอลัมน์รีวิวที่เขย่าให้มือลั่นกดสั่งเอาง่าย ๆ
ผ่างงงงงงง
.
หรือคราวหน้าต้องไปหาหนังสือมารีวิวเกี่ยวกับวิธีคิด วิธีทำธุรกิจของแดนมังกร ที่ทำให้ทุกวันนี้ขยับอันดับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ
มาย่อยสรุปฝากคุณผู้อ่าน
ขณะกำลังทานขนมปังปิ้งระบบไอน้ำที่กรอบนอกนุ่มใน
ดีไหมคะ 😙

The Power of Output (ศิลปะของการปล่อยของ)

Book Review: ศิลปะของการปล่อยของ!
The Power of Output – How to Change Learning to Outcome
.
คุณว่าใครพัฒนาตนเองได้มากกว่าระหว่าง
A) อ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม และสร้าง Output 3 เล่ม
B) อ่านหนังสือเดือนละ 10 เล่ม และไม่ได้สร้าง Output ใด ๆ
.
จะเป็นหนังสือ หรือคอร์สออนไลน์ หรือสัมมนา
ก็เป็นบทสรุปเดียวกันที่หนังสือเล่มนี้บอกไว้คือ
แบบ A จะพัฒนาได้เร็วกว่ากว่าแบบ B
(ต่อให้เราอ่านน้อยกว่าก็ตาม)
.
และด้วยเหตุผลเดียวกัน หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ
เลยต้องรีบมาเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ทันที
เพราะนี่ถือเป็น Output รูปแบบหนึ่งใน 3 แบบ
ที่ผู้เขียนให้แนวทางไว้
ได้แก่ การพูด, การเขียน, และการลงมือทำ
และอัตราส่วนที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ
ระหว่าง Input : Output คือ 3 : 7
.
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจิตแพทย์ค่ะ
คุณหมอแนะนำตนเองด้วยสถิติ Output ของการ
เขียนหนังสือทุกวัน ๆ ละ 3 ชั่วโมง และมีหนังสือมาแล้ว 28 เล่ม
.
ที่สะดุดใจคือ Output ดังกล่าวนั้น
คุณหมอไม่ทำงานหลัง 6 โมงเย็น
ได้ดูภาพยนตร์เดือนละ 10 เรื่อง
เข้าฟิตเนสสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง
และเที่ยวต่างประเทศปีละ 30 วัน
.
น่าสนใจขึ้นมาทันทีว่าคุณหมอทำได้อย่างไร
โดยเก๋เลือกมา 13 ข้อ ครอบคลุมเรื่องเด็ด ๆ จากทั้งการพูด เขียน ลงมือทำ
แบบกระชับฉบับเน้น Output!
.
หลักการของการสร้าง Output มี 3 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกคือการพูด

.

  1. เวลาพูดถึงสิ่งต่าง เราสามารถทำให้ Output เรามีพลังมากยิ่งขึ้น
    ด้วยการพูดข้อเท็จจริง และเสริมด้วยความรู้สึกและความคิดเห็น
    การสื่อสารก็จะดูมีมิติ น่าสนใจ น่าติดตาม
    .
  2. หากเราต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยการพูดคุย
    Output อยู่ที่ความบ่อย ไม่ได้อยู่ที่ความเยอะในแต่ละครั้งที่พูด
    ยิ่งถี่ยิ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น
    .
    3.หากจะปฏิเสธใครก็อย่าให้เขาไม่มีทางออก
    วิธีปฏิเสธที่ยังคงประสิทธิภาพเริ่มจาก
    ขอโทษ -> เหตุผล -> คำปฏิเสธ -> ให้ข้อเสนอใหม่
    .
  3. หากจะต้องดุใคร จะเป็นหรือไม่เป็นผล
    คนนั้นจะยอมรับมากน้อยแค่ไหน
    อยู่ที่ความสัมพันธ์ที่เชื่อใจกันมาเป็นทุนเดิม
    .
  4. การเปิดเผยเกี่ยวกับตนเองให้อีกฝ่ายได้รับรู้
    ช่วยสร้างให้ต่างฝ่ายต่างรู้จักกันมากขึ้น
    งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าปกติแล้วคนเราจะมีสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง
    กับคนที่เป็นเพื่อนแท้ที่เราสามารถขอคำปรึกษา หรือปลอบเรายามทุกข์
    อย่างมากไม่เกิน 10 คน
    ดังนั้นหากเรามีเพื่อนแท้สัก 3 คนก็น่าจะเพียงพอแล้ว
    .

กลุ่มที่สองเป็นเรื่องของการสร้าง Output ด้วยการเขียน

.

  1. To do list คืองานที่สำคัญที่สุดของวันที่ต้องทำเป็นอย่างแรกในตอนเช้า
    .
  2. การจดโน้ตที่ได้ผลคือการแบ่งเนื้อหาของการจดเป็น 70-20-10
    70% สำหรับเนื้อหาที่สำคัญ (Information)
    20% สำหรับเรื่องที่เราค้นพบ (Aha, Insight)
    10% สำหรับสิ่งที่เราตั้งใจลงมือทำ (Action)
    .
  3. การเขียนไอเดียบน Analog VS. Digital มีประโยชน์ต่างกัน
    ลักษณะของการเขียนบน Analog (เช่น เขียนด้วยมือ)
    – ออกไอเดียได้ง่าย
    – ได้ Sense ในการมองเห็น สัมผัส รู้สึก
    – แต่แชร์ได้ยากกว่าการเขียนบน Digital
    ลักษณะการเขียนบน Digital (เช่น พิมพ์บน Device)
    – สรุปไอเดียง่าย (เชิงรูปธรรม)
    – เห็นเป็นคำพูด เป็นเหตุเป็นผล
    – แต่ไม่ค่อยได้ Sense สัมผัส ขยับมือ สมองทำงานได้ยากกว่า Analog
    สรุปว่าให้เลือกใช้การเขียนให้ถูกกับจุดประสงค์
    .
  4. การเตรียมสไลด์นำเสนอ
    แนะนำให้ร่างจาก Analog -> Digital ด้วยการ
    1) ร่างไอเดีย โดยใช้สมุด ปากกา เพื่อกระตุ้นสมอง
    2) วางโครงสร้าง โดยใช้ฟังก์ชั่น Outline ใน MS Word
    3) ทำสไลด์ โดยใช้ PowerPoint
    .
  5. การนำเสนอบน Whiteboard VS Slide มีประโยชน์ต่างกัน
    Whiteboard:
    – มีส่วนร่วม กระตุ้นการโต้ตอบ
    – พูดสดได้
    – ใช้ในการประชุม การเรียน ระดมความคิดที่คนไม่เยอะ
    Slide:
    – เน้นฟังบรรยาย ไม่มีโต้ตอบ
    – สามารถเตรียมล่วงหน้า
    – ใช้ในการบรรยาย สัมมนา คนจำนวนมาก
    .

กลุ่มสุดท้ายเน้นการสร้าง Output ที่การลงมือทำ

.

  1. การสอนต่อโดยใช้หลักการ Learning Pyramid
    การสอนทำให้เรามองเห็นได้ชัดว่า ตัวเองเข้าใจดีแค่ไหนและยังบกพร่องตรงไหนบ้าง
    เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
    .
  2. ท้าทายตัวเองให้ทำสิ่งที่ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไป
    หากง่ายเกินไป (Safe zone) สารโดพามีนไม่หลั่ง ไม่ตื่นตัว
    หากยากเกินไป (Danger zone) สารโดพามีนไม่หลั่ง เพราะเกิดความกลัวหรือกังวลแทน
    หากยากกำลังพอดี (Learning zone) สารโดพามีนจะหลั่ง เพราะร่างกายตื่นตัว กระตือรือร้นพร้อมทดลองเรียนรู้
    .
  3. การเป็นผู้นำ
    ให้เอ่ยถึง “วิสัยทัศน์” แทน “เป้าหมาย” เช่น
  • วิสัยทัศน์ = ให้ความรู้ด้านจิตวิทยาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยลดจำนวนคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
  • เป้าหมาย = เขียนหนังสือที่ขายดีได้ถึง 1 ล้านเล่ม
    จะเห็นว่าเมื่อพูดถึงวิสัยทัศน์ คนจะคล้อยตามได้ง่ายกว่า เพราะวิสัยทัศน์มักเป็นการทำเพื่อผู้อื่น
    ในขณะที่เป้าหมาย มักเป็นความจริง เป็นผลประโยชน์
    .
    โดยรวมเก๋มองว่าผู้เขียนเป็นคนที่มีวินัยเยี่ยมยอดคนหนึ่งเลยทีเดียว
    และเป็นคนที่ใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเองในการถ่ายทอดเทคนิคการสร้าง Output
    โดยที่พยายามค้นคว้าหางานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนเทคนิคต่าง ๆ ที่เล่าในหนังสือ
    ไม่ว่าจะเป็นกลไกของการทำงานของสมองเรากับเทคนิคต่าง ๆ ที่ผู้เขียนแนะนำ
    .
    จนเก๋เองต้องมี Output ที่เป็นรูปธรรมสักชิ้นสองชิ้น
    หลังจากอ่านและอินกับข้อเสนอแนะของผู้เขียน
  • ชิ้นแรกคือสมุดและเครื่องเขียนสวย ๆ ที่ผู้เขียนแนะนำให้เตรียมไว้เพื่อสร้าง Output งานเขียนที่เอื้อให้เราได้สนุกกับมัน
  • Output อีกชิ้นก็คงเป็นบทความเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่คุณผู้อ่านกำลังกวาดสายตามาจนถึงบรรทัดนี้แหละค่ะ
    .
    และคุณผู้อ่านล่ะคะ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว
    นึกอยากสร้าง Output อะไรสักอย่างของตัวเองบ้าง
    .

Design Your Work Life (Part 2)

Don’t resign, Redesign

โพสต์นี้เป็นภาคต่อของส่วนที่ 1 จากหนังสือ Design Your Work Life
อ่านย้อนหลังส่วนที่ 1

หลังจากที่เราเข้าใจว่าชีวิตเราอยู่ไหน ด้วยการใช้ Maker Mix
คราวนี้เราจะพูดถึงกลยุทธ์ในการออกแบบงานโดยที่ยังไม่ต้องลาออก
โดยเราจะเน้นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเราให้กลับมาดูน่าสนใจ ท้าทาย และสร้างแรงบันดาลใจ

กลยุทธ์ที่ 1: ปรับมุมมองและความเข้าใจ (Reframe and Reenlist)

ตัวอย่าง

บริษัทที่จอห์นทำงานอยู่ในฝ่ายควบคุมคุณภาพมีการควบรวมกิจการ ผู้บริหารชุดใหม่ประกาศยกเครื่องจากผู้บริหารชุดเก่าซึ่งถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพ จอห์นเองเริ่มต้องทำงานจนค่ำมืดรวมถึงสุดสัปดาห์เพื่อให้ทันกับแผนใหม่ และหัวหน้าบอกให้จอห์นปรับตัวหรือไม่ก็ไปหางานที่อื่น

จอห์นมีลูกชายที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และด้วยแผนประกันสุขภาพคนในครอบครัวของบริษัทที่จอห์นทำงานอยู่ ทำให้เขาไม่ต้องรับภาระกับค่าใช้จ่ายหนัก ๆ ก้อนนี้

การย้ายไปอยู่บริษัทอื่น ณ ตอนนี้จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของเขาอย่างน้อยก็อีก 1 ปีตามที่หมอระบุถึงระยะเวลาที่ต้องใช้ในการรักษา
นั่นจึงทำให้เขาติดแหงกอยู่ในงานแย่ ๆ ด้วยเหตุผลที่ดี

ในที่สุดจอห์นตัดสินใจว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ คงถึงเวลาที่เขาควรปรับมุมมองและสร้างบริบทใหม่ในงานที่ทำ โดยใช้กลยุทธ์วิธีคิดที่เรียกว่า “ดีพอแล้วสำหรับตอนนี้” (Good enough for now)
เขารู้สึกโล่ง และกระตือรือร้นขึ้นมาบ้าง ด้วยแผนที่ตั้งใจจะทำงานต่ออีกสัก 2 ปี แล้วค่อยประเมินสถานการ์ณดูอีกทีโดยคำนึงถึงครอบครัวเป็นหลัก

กลยุทธ์ที่ 2: ปรับปรุง (Remodel)

แอนทำงานฝ่ายขายในบริษัทด้านการเงินแห่งหนึ่ง บริษัทกำลังเติบโตและแอนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส
เธอชอบงานที่ทำ แต่ก็อยากให้มีอะไรมากกว่านั้น และไม่ได้ถึงกับอยากได้รับการเลื่อนขั้น เพราะตำแหน่งพวกนั้นจะทำให้เธอวุ่นกับการบริหาร ไม่ได้ทำงานขายที่เธอชอบ ได้พูดคุยกับลูกค้า

แอนถามตัวเองว่ามีงานอะไรที่เธอทำอยู่และอยากทำให้มากขึ้น เธอนึกถึงงานสัมภาษณ์ที่ได้ทำตลอดในช่วงที่บริษัทเติบโต

หลายคนที่เธอสัมภาษณ์ได้รับเข้าทำงานและกลับมาขอคำปรึกษาแอนอยู่บ่อยครั้ง แอนมีความเป็นธรรมชาติในเรื่องการพัฒนาคน
การฟัง ความเข้าอกเข้าใจ การใช้สัญชาตญาณ และนี่เป็นส่วนที่ทำให้เธอทำงานขายได้ดี ดังนั้นจุดแข็งเดียวกันนี้ยังทำให้เธอจะสามารถเป็นโค้ชที่ดีด้วย

แอนเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการทำต้นแบบ (Prototype) กับคน 4 คน เธอนัดดื่มกาแฟสนทนาเรื่องการพัฒนาตนเองกับทีละคน ผลเป็นไปในทางบวกในการตอบรับ แอนนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหัวหน้าและเธอก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานโค้ชสัปดาห์ละครึ่งวันเป็นการถาวร

หากคุณสงสัยว่าวิธีนี้จะเวิร์คกับคุณหรือไม่ ลองเริ่มเหมือนแอนด้วยการมองหาสิ่งที่มีอยู่แล้วในงานที่คุณรู้สึกสนุก จากนั้นลอง Prototype วิธีที่คุณจะได้ทำสิ่งนั้นมากขึ้นดูสิคะ

กลยุทธ์ที่ 3 และ 4
ปรับตำแหน่ง (Relocate) และปรับเปลี่ยนตัวเอง (Reinvent)

เหตุผลที่เราจะพูดถึงสองกลยุทธ์นี้พร้อม ๆ กัน เนื่องจากมันมาจากลักษณะใกล้เคียงกัน นั่นคือการหางานใหม่ในบริษัทที่คุณทำอยู่ (เหมือนหางานใหม่ แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า)

กลยุทธ์นี้แตกต่างจากกลยุทธ์ที่ 2 ตรงที่คุณจะเปลี่ยนไปทำงานที่ต่างจากเดิม ไม่ใช่ขยับขยายจากสิ่งที่ทำอยู่

ซึ่งถ้าเป็นกลยุทธ์นี้คุณต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก คุณไม่สามารถใช้ประสบการณ์ในงานเดิมมาใช้ได้สักเท่าไร จำเป็นที่จะต้องทุ่มเทในการเตรียมตัวเองหรือเรียนรู้อย่างจริงจัง ซึ่งอย่างไรก็น่าจะดีกว่าไปเริ่มสายงานใหม่ในบริษัทใหม่ที่คุณก็ยังไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร

ข้อต่างของสองกลยุทธ์สุดท้ายคือ Relocate คือการที่คุณมองหาตำแหน่งว่างที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
แต่ Reinvent คืองานใหม่ที่คุณเล็งอยู่นั้นคุณยังไม่มีแม้แต่คุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณา

ในกลยุทธ์สองข้อสุดท้ายนี้มี 4 เรื่องที่เกี่ยวกับ Mindset ในการที่คุณจะออกแบบงานได้แก่

– สงสัยใคร่รู้ (Get curious)
– พูดคุยกับคน (Talk to people)
– ทดลองทำ (Try stuff)
– บอกเล่าเรื่องราว (Tell you story)

นักบัญชีสองคนที่เราจะใช้เป็นตัวอย่างคือ คาสซานดราและโอลิเวอร์ ทั้งคู่ทำงานอยู่ในแผนกบัญชีในบริษัทที่แตกต่างกันสองที่ พวกเขาเริ่มสงสัยในชีวิตว่างานสายการเงินปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากทำไปอีก 20 ปีหรือไม่ พวกเขาพบว่างานด้านการตลาดน่าสนใจกว่างานบัญชีมาก

กลยุทธ์ที่ 3: ปรับตำแหน่งของคาสซานดรา (Relocate)


คาสซานดราพอจะมีเพื่อนฝูงอยู่ในแผนกการตลาดอยู่บ้าง เธอสร้างต้นแบบ (Prototype) แรก ด้วยการสัมภาษณ์เพื่อนเก่าสมัยเรียนที่อยู่การตลาด ให้เพื่อนช่วยเล่าว่างานการตลาดเป็นอย่างไรหรือแนะนำใครอีกบ้างที่เธอควรไปพูดคุยด้วย

จากนั้นคาสซานดราก็เริ่มเดินสายนัดพูดคุยเรื่องงานการตลาดกับอีกหลาย ๆ คนตามคำแนะนำ ท้ายสุดเมื่อเธอมั่นใจมากขึ้น เธอจึงส่งอีเมล์ไปยังรองประธานฝ่ายการตลาดที่ชื่อเดเร็ก

เมื่อตอนที่เธอได้มีโอกาสสนทนาจริง ๆ กับเดเร็ก เธอรวบรวมความสงสัยใคร่รู้ การได้พูดคุยกับคนหลาย ๆ คน และพร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเธอกับเขา

คาสซานดราขอความเห็นเดเร็กหลังจากที่เล่าเรื่องราวของตนเอง ว่าเขาคิดว่าเธอควรจะเปลี่ยนมาทำงานการตลาดไหม
(สังเกตว่าเธอขอความเห็น ไม่ได้ของาน ซึ่งทำให้เดเร็กตอบอย่างสบายใจ และเธอไม่ได้เรียกร้องจนเกินไป)

หลังจากพูดคุย เดเร็กเห็นเธอสนใจ จึงลองเสนอให้เธอได้ทดลองทำดู เพื่อจะได้รู้ว่าเธอเหมาะกับงานการตลาดไหม ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานตำแหน่งปัจจุบัน

หลังจากการทดลองทำการวิเคราะห์ความสามารถคู่แข่งจากฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานขายเป็นเวลา 6 สัปดาห์ผ่านไปด้วยดี คาสซานดราได้รับอนุญาตย้ายจากฝ่ายการเงินไปฝ่ายการตลาด

กลยุทธ์ที่ 4: การลองโน่นลองนี่ของโอลิเวอร์ (Reinvent)

โอลิเวอร์เป็นนักบัญชีที่ขี้อาย แต่เขาคิดเสมอว่าตนเองเป็นสายทำงานสร้างสรรค์ และอยากได้งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เขามีงานการตลาดจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์

ว่าแล้วเขาก็สร้างต้นแบบ (Prototype) ด้วยการสัมภาษณ์คนที่ฝ่ายการตลาด ลักษณะงานดูเหมือนจะได้ใช้ความคิดแปลกใหม่ที่เขามี แต่หนึ่งในความคิดเห็นจากเพื่อนที่ให้เขาสัมภาษณ์ทำให้เขาตระหนักว่า ถึงแม้เขาจะเป็นคนอัธยาศัยน่ารัก แต่เขาไม่เคยมีทักษะหรือได้รับการเรียนรู้หรือฝึกอบรมใด ๆ ที่เป็นสิ่งที่คนสายการตลาดทำกันเลย

การจะปรับตำแหน่งของเขาจึงเป็นการปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ (Reinvent)

โอลิเวอร์เกือบท้อใจเมื่อเจออย่างนี้ แต่เขาก็ยืนหยัดขอให้เพื่อนการตลาดช่วยเขียนรายการสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ทั้งหมด เพื่อยกระดับตนเองและเพิ่มโอกาสในการได้งานการตลาด

เขาเริ่มวางแผนในการกลับไปเรียนต่อ MBA โดยเลือกหลักสูตรที่สามารถเรียนนอกเวลาทำงาน (หรือถ้าเป็นตอนนี้เราก็สามารถลงเรียนออนไลน์วิชาต่าง ๆ ได้ง่ายดาย)

ในระหว่างที่เขาเรียนวิชาหนึ่งที่ชื่อว่า Social media marketing 101 เขาทำโครงการที่ใช้ความสร้างสรรค์ โดยต่อยอดจากข้อมูลด้านตัวเลขที่เขาถนัดอยู่แล้ว และอิงไปกับฐานข้อมูลของบริษัทประกันภัยที่เขาทำงานอยู่

โครงการทดลองของเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างสูงจากยอดไลค์หลักพันในเวลาแค่ 2-3 วันหลังจากเปิดเพจ รายงานโครงการนี้เขาได้เกรดเอ โอลิเวอร์จึงนำรายงานวิชานี้มาปรับใช้กับสายงานการตลาดใหม่ที่เขาอยากเข้าร่วม พร้อมนำเสนอต่อทีมบริหารในฝ่ายการตลาด

ในที่สุดโอลิเวอร์ก็ได้รับข้อเสนอให้ร่วมงานในฐานะคนออกแบบและวิเคราะห์ข้อมูลของทีมการตลาด

====================

บทสรุป เมื่องานใหม่ไม่สนุกอย่างที่คิด

เรื่องราวของคาสซานดราไม่ได้จบสวยหรูเหมือนนิยาย หลังจากย้ายงาน 1 ปี คาสซานดราไม่ได้มีความสุขกับงานอย่างที่เธอเคยคิด

คาสซานดราได้ข้อสรุปว่าความรู้สึกเบื่อนิดหน่อยในงานบัญชีก็ไม่ได้แย่เมื่อเทียบกับความสบายใจที่ได้รับเมื่อสิ้นสุดวัน งานที่ได้รับมอบหมายนั้นจบเรียบร้อยและได้คำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติของงานการตลาดที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

เธอได้ข้อสรุปว่าเธอน่าจะกลับไปทำงานในฝ่ายการเงินมากกว่า
ข้อสรุปคือ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับคาสซานดราและพวกเราทุกคน

คาสซานดราคือปุถุชนที่ใช้ชีวิต มีลมหายใจ เติบโต เปลี่ยนแปลง และมีวิวัฒนาการเฉกเช่นมนุษย์คนอื่น ๆ
การออกแบบชีวิตก็เช่นกันถ้าเป็นการออกแบบนั่นหมายถึงการทำซ้ำ ๆ การสร้างต้นแบบ

ข่าวดีคือ เราเติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีอะไรที่เสียเปล่าหรอกค่ะ เช่นเดียวกันคาสซานดราเมื่อเธอย้ายกลับมาที่แผนกบัญชี เธอมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนกต่าง ๆ ในบริษัทมากขึ้น เธอรู้จักตนเองมากขึ้นแถมประสบการณ์ด้านการตลาดยังช่วยให้เธอทำงานด้านบัญชีได้ดีขึ้นด้วย

เป็นปกติที่ ณ จุดหนึ่งเมื่อเราทำงานไปสักพัก เราจะพัฒนาไปไกลกว่างานที่ทำอยู่ และถ้าเราเป็นคนฉลาด เป็นนักสร้างสรรค์ มีทัศนคติของนักออกแบบที่เต็มไปด้วยความสงสัยใครรู้ และกระตือรือร้นในการลงมือทำ ทักษะที่เรามีจะแซงงานที่เราทำอยู่

ทุก ๆ 2-3 ปี (เร็วช้ากว่านี้แล้วแต่บุคคล) น่าจะเป็นเวลาที่เราจะหางานชิ้นใหม่ ๆ และหากเราอยู่ในองค์กรที่เอาใจใส่พนักงาน มีหัวหน้าที่คอยสนับสนุน เขาจะช่วยมองหาบทบาทใหม่ ๆ ที่ท้าทาย

แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรเพราะเราสามารถเริ่มก้าวแรกด้วยตัวเราเอง โดยใช้กลยุทธ์หนึ่งในสี่ข้อด้านบน โดยที่เรายังไม่จำเป็นต้องลาออก

ลาออกทำไม ถ้าออกแบบใหม่ได้ดีกว่า!

Design Your Work Life (Part 1)

ลาออกทำไม ออกแบบใหม่ดีกว่า!

เป็นชื่อบทหนึ่งในหนังสือ Design your work life แต่งโดย Bill Burnett และ Dave Evans
ซึ่งจะว่าไปหากตั้งเป็นชื่อหนังสือก็น่าสนใจไม่น้อย

ผู้เขียนสนใจหนังสือเล่มนี้เพราะเป็นการค้นคว้าต่อเนื่องหลังจากได้มีโอกาส Certify เป็นผู้สอนหลักสูตร Design Your Life
โดย Bill และ Susan Burnette

ใน Design Your Life บางคนรู้สึกว่าแผนโอดิสซีย์ที่ทำนั้นเยี่ยมมาก แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะทิ้งทุกอย่างแล้วหนีไปเป็นครูสอนดำน้ำ ไหนจะค่าเทอมลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่อนรถ ผ่อนบ้านที่มีอยู่

หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเป็นภาคต่อที่มีชื่อว่า Designing your work life ซึ่งเป็นแนวคิดที่เหมาะกับคนทำงานในองค์กร

Bill Burnett ใช้คำว่า “Imagining” กับ Design Your Life
และใช้คำว่า “Making it real” กับ Design Your Work Life

โพสต์นี้ไม่ได้รีวิวหรือสรุปว่าหนังสือมีเรื่องอะไรบ้าง แต่ขอดึงเฉพาะส่วนที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันที

Are we there yet?

คือการสร้างความตระหนักรู้ว่าเราอยู่ไหนและมันดีเพียงพอหรือยังในจุดที่เราอยู่
“Not everything that can be measured counts, and not everything that counts can be measured.”

เราสามารถทำความเข้าใจกับคุณค่าของตัวเราได้ด้วยการวัดสิ่งที่เราสร้าง ซึ่งเป็นได้ทั้ง Money หรือ Meaning หรือทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน!

มีเครื่องมือในหนังสือที่เรียกว่า Maker Mix โดยเปรีบบเทียบเหมือนเครื่องมือของ Sound Engineer ที่ใช้ผสมแต่ะละมิติเพื่อให้เสียงออกมาไพเราะ

สำหรับชีวิต ส่วนผสมนี้ประกอบไปด้วย
– เงิน (Money)
– ผลกระทบ (Impact)
– การแสดงออก (Expression)

โดยใช้มาตรวัดตั้งแต่ 0-100 ในแต่ละแกน ให้เราวัดและจัดการในทั้งสามมิติ
เพื่อให้เข้าใจว่า “เราอยู่ไหน” และ “เราต้องการจะไปไหน”

ตัวอย่าง
Bill Burnett เมื่อสมัยเป็นประธานบริษัทที่ปรึกษากับลูกน้อง 40 ชีวิต เขาก็สนุกกับงานแต่ก็ไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบตอบโจทย์ในการทำโลกนี้ให้ดีขึ้น หรือแค่ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งขายของได้

ในหมวกที่ปรึกษาบิลทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการบนไอเดียของผู้อื่น เขาจึงไม่สามารถกำหนดผลกระทบและการแสดงออกได้ งานของเขาขณะนั้นจึงให้ความสนุกและสร้างรายได้ที่ดี

Bill’s current Maker Mix: 90-30-10 คือส่วนผสมของบิลในแต่ละแกน
(เงิน-ผลกระทบ-การแสดงออก)

เมื่อบิลไปร่วมงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Stanford
Maker Mix ของเขาปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากเขายอมลดรายได้เพื่อมาเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเลือกเพื่อมีโอกาสสร้างผลกระทบจากการสอน

เป้าหมายเขาคือสร้างนักออกแบบที่ยอดเยี่ยมจำนวน 1,000 คน และเขามีแผนสำหรับงานในอนาคตที่จะผันตัวเองมาเป็นศิลปินอย่างเต็มตัวยังชีพด้วยงานเขียนและงานวาดรูป

Bill’s current Maker Mix: 30-90-30 คือส่วนผสมของบิลในแต่ละแกน
(เงิน-ผลกระทบ-การแสดงออก)

เครื่องมือนี้เน้นที่ความสอดคล้อง (Coherence) มากกว่าการต้องตะบี้ตะบันให้ทุกอย่างเต็มร้อยในเวลาเดียวกัน
จำการเปรียบเทียบกับ Sound engineer ได้ไหมคะ เพลงที่เพราะไม่จำเป็นต้องมีเสียงทุกประเภทสูงแบบสุดโต่ง

ข้อสำคัญคือองค์ประกอบนี้มัน “ดีเพียงพอ” สำหรับเราตอนนี้แล้วหรือยัง

ศิลปินที่ไม่มีความสุขมักจะสับสนระหว่างเงินกับคุณค่า โดยตีความว่าเมื่อใดก็ตามที่ภาพขายได้ (Money) แปลว่าเขามีคุณค่าในการแสดงความเป็นตัวตน (Expression) ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคนละมิติกัน

Action:
ว่าแล้วก็มาเริ่มร่าง Maker Mix ทั้งสามมิติของตัวเราเองดีกว่าค่ะ
A) หาระดับ Maker Mix ในปัจจุบันของเราทั้งสามมิติ (เงิน-ผลกระทบ-การแสดงออก)
B) กำหนดระดับของ Maker Mix ที่เราอยากปรับ (หรือคงไว้) ของแต่ละด้าน

ในโพสต์หน้า เราจะคุยถึงกลยุทธ์การออกแบบชีวิตในองค์กรทั้ง 4 แบบหลังจากที่เราเข้าใจว่า “เราอยู่ไหน”
อ่านต่อโดยคลิ๊กที่นี่

Becoming III (Michelle Obama)

Book Review ตอนสุดท้ายในซีรีย์ Becoming
หนังสืออัตชีวประวัติของ มิเชล โอบามา ที่ทำยอดขายไปกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก

ภาคที่สาม…Becoming More จะทำให้เราประจักษ์ว่า คู่สามีภรรยาผิวสีได้ฝ่าฟันเพื่อเป็นตัวแทนแห่งความเท่าเทียมของประเทศที่ขนานนามวันชาติว่า Independence Day ได้อย่างไร

เป็นบทพิสูจน์เหมือนชื่อหนังสือ Becoming ที่กำลังบอกว่าเราเติบโตอยู่ตลอดเวลา ไปสู่ “การเป็น” อีกอย่างเสมอ
และ Complete ความตั้งใจในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้เพื่อขยายความให้ผู้อ่านตระหนักว่า “Black Lives Matter”

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ภาค
Part 1: Becoming Me

Part 2: Becoming Us

Part 3: Becoming More

ช่วงต้นปี 1992 บารัคได้รับทาบทามจากผู้นำกลุ่ม Project VOTE! ให้ช่วยดูแลกระบวนการลงเสียงให้ชนกลุ่มน้อยให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในรัฐอิลลินอยส์ งานนี้รายได้ต่ำมากแต่ตัวงานดึงดูดใจเพราะตรงกับความเชื่อหลักของบารัค

ในการเลือกตั้งปี 1996 ซึ่งเป็นการลงป้องกันตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของคลินตัน วุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ท่านหนึ่งที่เคยรู้จักกับบารัค ช่วงที่เขาทำงานใน Project VOTE! ทาบทามให้บารัคลงสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในตำแหน่งที่ว่างลง
มิเชลไม่ค่อยเห็นด้วยที่บารัคจะลงสมัครชิงตำแหน่งทางการเมือง เธอไม่ค่อยปลื้มนักการเมืองจึงไม่ชอบไอเดียที่ว่าสามีตัวเองจะกลายเป็นนักการเมือง ถึงกระนั้นเธอก็ยินยอมให้บารัคลงสมัครชิงตำแหน่งครั้งแรก และบารัคได้รับเลือกตั้งเข้าวุฒิสภาอิลลินอยส์ในปีนั้น

ทุกคืนวันจันทร์บารัคจะขับรถ 4 ชั่วโมงไปสปริงฟีลด์เมืองหลวงของรัฐอิลลินอยส์เพื่อประชุมสภานิติบัญญัติ เขาพักในโรงแรมถูก ๆ ซึ่งสมาชิกสภาอื่น ๆ หลายคนพักอยู่ และจะกลับมาบ้านในชิคาโกตอนค่ำวันพฤหัสฯ
บารัคลดปริมาณงานที่ทำในบริษัทกฎหมาย แต่เพื่อเป็นทางหารายได้มาจ่ายหนี้สินทางการศึกษาของทั้งคู่ เขาจึงรับงานสอนเพิ่มที่คณะนิติศาสตร์ในวันที่ไม่ต้องไปประชุม

สองปีถัดมามิเชลได้ให้กำเนิดมาเลียลูกสาวน่ารักคนแรก เธอย้ายไปทำงานแห่งใหม่ในมหาวิทยาลัยชิคาโก ด้วยข้อเสนอขอทำงานเพียงครึ่งเวลาและเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว เพื่อดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันบารัคก็ได้รับเลือกซ้ำอีกสมัยให้นั่งเก้าอี้วุฒิสมาชิกของรัฐ ด้วยความนิยมและประสบความสำเร็จ และด้วยนิสัยชอบทำหลายอย่างพร้อมกัน บารัคก็เริ่มคิดการใหญ่ขึ้นไปอีก ด้วยการจะลงสมัครชิงตำแหน่งในรัฐสภาสหรัฐฯ

บารัคลงสมัครชิงตำแหน่งในสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการ ช่วงประมาณ 6 เดือนที่หาเสียงชิงตำแหน่งนี้ เขามีเวลาอยู่บ้านกับมิเชลและมาเลียรวมแล้วไม่ถึง 4 วันด้วยซ้ำ นี่คือความจริงอันเจ็บปวดของการหาเสียง
ในโลกอุดมคติของมิเชล บารัคน่าจะทำงานประเภทผู้บริหารมูลนิธิสักแห่ง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อปัญหาสำคัญ ๆ ได้ แล้วก็กลับมากินมื้อค่ำที่บ้านกับเธอและลูก

ช่วงหยุดยาวคริสมาสต์สภานิติบัญญัติยอมปิดชั่วคราว ครอบครัวโอบามาตัดสินใจเดินทางไปพักผ่อนที่หาดไวกีกิในรัฐฮาวายบ้านเกิดของบารัค
ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีจนบารัคได้รับโทรศัพท์จากใครบางคนในอิลลินอยส์ วุฒิสภาจะเปิดสมัยประชุมต่อแบบกะทันหันเพื่อผ่านร่างกฎหมาย มิเชลใจแป้ว เฝ้าดูบารัครีบลงมือเปลี่ยนเที่ยวบินขากลับเป็นวันรุ่งขึ้น ถอดปลั๊กวันหยุดของครอบครัวในทันที

มิเชลไม่อยากรีบกลับสักนิดแต่ก็เข้าใจว่านี่คือวิถีการเมือง ใครขาดประชุมแค่คนเดียวร่างกฎหมายมีสิทธิ์ไม่ผ่านสภา แต่แล้วก็เกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นอีก มาเลียมีไข้สูงในชั่วคืน
บารัคจะพร้อมไปก็ย่อมได้ แค่ทิ้งลูกที่เจ็บป่วยกับภรรยาที่กลัดกลุ้มไว้อีกฟากมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วไปประชุม ปรากฏว่าบารัคไม่คิดแบบนั้น เขาไม่ทำ

หลังจากนั้นสองวันอาการป่วยของมาเลียดีขึ้น ทั้งครอบครัวกำลังจะบินกลับบ้านที่ชิคาโกคืนสู่ไอเย็นเยือกของฤดูหนาว กลับไปสู่สภาพซึ่งเริ่มก่อตัวเป็นหายนะทางการเมืองสำหรับบารัค
ร่างกฎหมายอาชญากรรมไม่ผ่านสภานิติบัญญัติของรัฐ บารัคโดนกระหน่ำโจมตีที่ขาดประชุม คู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งฉวยโอกาสวาดภาพให้บารัคเป็นนักฎหมายเจ้าสำราญที่ไปเที่ยวพักผ่อนไกลถึงฮาวาย แล้วไม่ยอมกลับมาลงคะแนนในเรื่องที่สำคัญมาก ๆ

บารัคเคยเห็นมาแล้วว่าการเมืองน่ารังเกียจได้ขนาดไหน ความจริงมักถูกบิดเบือนบ่อยมาก เขาบาดเจ็บแต่ไม่ยอมแพ้ ยังคงหาเสียงตลอดฤดูหนาว ช่วงเวลาที่กระชั้นก่อนลงคะแนนขั้นต้นมาเลียกับมิเชลแทบไม่เจอบารัคเลย แม้เขาจะโทรมาบอกราตรีสวัสดิ์ทั้งคู่ทุกคืน
ในเดือนมีนาคมบารัคแพ้การลงคะแนนขั้นต้นให้กับคู่แข่ง

บารัคยังคงสอนหนังสือและทำงานในสภา แม้เขาจะเจ็บปวดที่ปราชัยในการลงคะแนนขั้นต้นเพื่อเข้าสู่สภาคองเกรส เขาก็ยังมีความคิดเรื่องลองชิงตำแหน่งสูง ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธานาธิบดี คนทั้งประเทศต่างโศกสลดต่อเหตุการก่อการร้ายรุนแรงกรณี 9/11

บารัคเริ่มเอ่ยปากครั้งแรกว่าเขาอาจจะสมัครชิงตำแหน่งเก้าอี้ในวุฒิสภาสหรัฐฯ มีเพื่อนหลายคนตกลงสละเวลาและเงินทองสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของบารัค มิเชลไม่ขอยุ่งด้วยและมีข้อแม้สำคัญที่พูดซ้ำให้ทุกคนได้ยินทั่วกันว่า ถ้าบารัคแพ้ก็ให้เขาวางมือจากการเมืองไปเลย

แต่โชคกลับเข้าข้างครอบครัวโอบามาในครั้งนี้เพราะตัวเก็งคู่แข่งในพรรคตัดสินใจไม่ลงสมัคร เปิดสนามให้พวกผู้ท้าชิงที่ค่อนข้างหน้าใหม่อย่างบารัค
เขาชนะคู่แช่งได้สิทธิ์เกินครึ่งจนได้เป็นตัวแทนพรรค ในสายตาคนทั่วไปบารัคดูมีเสน่ห์รื่นเริง เฉียบแหลมและเตรียมตัวพร้อมสำหรับคำตอบยืดยาวต่อคำถามต่าง ๆ

จอห์น เคอรี กำลังจะเชิญบารัคไปกล่าวคำปราศรัยหลัก ณ ที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตประจำปี 2004 ทั้งหมดทั้งมวลนี้บารัคเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักเลย เขาเป็นแค่สมาชิกสภานิติบัญญัติธรรมดา ๆ ของรัฐหนึ่งซึ่งไม่เคยปราศรัยต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่จำนวนไม่ต่ำกว่า 15,000 คน บารัคไม่เคยใช้เครื่องฉายข้อความ ไม่เคยออกโทรทัศน์สด ๆ ในช่วงที่ผู้ชมสูงสุด เขาเป็นคนหน้าใหม่ เป็นคนผิวดำในแวดวงอันเคยเป็นเรื่องของคนผิวขาวมาตลอด

คืนวันปราศรัยบารัคพูดนาน 17 นาที บรรยายว่าเขาเป็นใครมาจากไหน พ่อของเขาเป็นเด็กเลี้ยงแพะในเคนยา และการที่พ่อแม่เชื่อมั่นว่าการศึกษาที่ดีย่อมเป็นประโยชน์ต่อบุตรชายซึ่งไม่ได้เกิดมาร่ำรวยหรือมีเส้นสาย
บารัคพูดอย่างจริงใจลื่นไหล เขาเรียกร้องให้เชิดชูความหวังเหนือความชิงชังรังเกียจ เขาขับกล่อมผู้คนด้วยความหวัง พอเขาพูดประโยคปิดท้ายผู้ฟังต่างลุกขึ้นโห่ร้องชอบใจปรบมือเสียงดังก้องทั่วห้องประชุม

วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งเกี่ยวกับการปราศรัยของบารัค โทรศัพท์มือถือของบารัคเริ่มดังไม่หยุดหย่อน พวกผู้เชี่ยวชาญในเคเบิลทีวีขนานนามเขาว่า “ร็อคสตาร์” และ “คนดังในชั่วคืน”
เดือนพฤศจิกายน บารัคได้รับเลือกเข้าสู่วุฒิสภาสหรัฐฯ และชนะถล่มทลายสูงสุดในการชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกทุกรัฐทั่วประเทศในปีนั้น ผู้คนชื่นชมห้อมล้อม และความดังของเขาวัดได้จริงเพราะแม้แต่คนผิวขาวก็ยอมรับเขา

ในฤดูร้อนปี 2006 ผลการหยั่งเสียงมีการเสนอชื่อบารัคในกลุ่มผู้ที่น่าจะได้เป็นประธานาธิบดี บารัคเริ่มพูดคุยกับเพื่อนฝูง ที่ปรึกษา และผู้ที่มีแววจะบริจาคสนับสนุน แต่มีคนหนึ่งที่เขาเลี่ยงไม่คุยด้วย นั่นก็คือมิเชลเอง เธอพยายามอย่างที่สุดที่จะเมินเฉยกับแรงหมุนวนรอบตัวบารัค เขาอยากลงสมัครเป็นประธานาธิบดี แต่เธอไม่

หากต้องการลงสมัครจริงทั้งบารัคและมิเชลต้องทุ่มตัวทุ่มใจทำงานรณรงค์สุด ๆ บารัคก็ต้องเปิดตัวตระเวนรณรงค์หาเสียงไปทั่วประเทศ รวมถึงต้องระดมเงินทุนสนับสนุนมหาศาล มิเชลจะถูกคาดหวังให้เตรียมพร้อมและเตรียมลูก ๆ ให้พร้อมปรากฏตัวต่อหน้าผู้คนยิ้มแย้มยอมรับจับมือทักทายกับคนมากมาย
การหาเสียงมีราคาที่สูง ครอบครัวต้องสละอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าเวลา ความเป็นส่วนตัว การได้อยู่ร่วมกัน

บารัคกับมิเชลถกกันเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน ลงท้ายมิเชลยอมตกลง แต่ถึงอย่างไรมิเชลก็พบเห็นการแบ่งแยกมากพอที่จะไม่หวังสูง อย่างไรบารัคก็เป็นคนผิวดำในอเมริกา เธอไม่คิดจริง ๆ ว่าเขาจะชนะ

ฮิลลารี คลินตัน เป็นคู่แข่งที่จริงจังอย่างน่ากลัว และบารัคในฐานะผู้สมัครผิวดำอย่างเขาห้ามผิดห้ามพลาดอะไรเลย ต้องทำทุกอย่างเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าด้วย ในการช่วยบารัคหาเสียง หลายครั้งมิเชลเจอคำถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เป็นผู้หญิงผิวดำสูงห้าฟุตสิบเอ็ดนิ้ว จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก ยืนพูดในห้องซึ่งมีแต่ผู้ฟังที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว

เวลาทุกวันทุกนาทีบารัคถูกจับตา ถูกตรวจสอบ ถูกประเมิน ตอนนี้มีสื่อมวลชนราว 25 คนตามประกบนั่งกันเต็มด้านหลังเครื่องบินซึ่งใช้เดินทางหาเสียง เป็นบททดสอบอุปนิสัยใจคอว่าใครเหมาะสมจะเป็นทั้งผู้นำและเป็นทั้งสัญลักษณ์ของประเทศ
ถ้าหากอเมริกาเลือกเขาเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก มันคงไม่เพียงบ่งบอกบางสิ่งเกี่ยวกับตัวบารัค แต่บ่งบอกบางอย่างเกี่ยวกับประเทศชาติด้วย

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2008 บารัคไปลงคะแนนเสียงและทำตัวสบาย ๆ กว่าปกติ ดังที่เขาจะเป็นเสมอในวันที่มีแรงกดดันสูงเป็นพิเศษ เขาร่างคำปราศรัยล่วงหน้าสำหรับคืนนั้นเตรียมไว้ทั้ง 2 แบบ คือสำหรับกรณีที่ชนะ และกรณีที่ยอมรับความพ่ายแพ้
ตอนสี่ทุ่มตรงเป๊ะ เครื่อข่ายต่าง ๆ เริ่มฉายภาพใบหน้ายิ้มแย้มของบารัค พร้อมประกาศว่าบารัค ฮุสเซน โอบามา ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา!

สำหรับมิเชล..ไม่มีคู่มือสำหรับคนที่จะมาเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มิเชลเจียมตัวและตื่นเต้นที่จะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งโดยเฉพาะในแบบที่มีคำว่า “ผิวดำ” และ “คนแรก”
ตามธรรมเนียมการไปเยือนบ้านหลังใหม่ในทำเนียบขาวจะมีขบวนกองทับยวดยานเลื้อยยาว

โลหะน้ำหนักเป็นพัน ๆ ปอนด์ คอมมานโดทั้งหน่วย ทุกอย่างล้วนกันกระสุน มิเชลมารู้ภายหลังว่ามีเฮลิคอปเตอร์หนึ่งลำอยู่ใกล้พร้อมจะเคลื่อนย้ายบารัคได้ตลอดเวลา แถมมีพลแม่นปืนประจำบนหลังคาตามเส้นทางที่เขาจะใช้ มีแพทย์ส่วนตัวอยู่กับเขาตลอดเผื่อกรณีเจ็บป่วย และรถที่เขานั่งจะสำรองเลือดหมู่ที่ตรงกับเขาไว้เผื่อจำเป็นต้องให้เลือด
นี่คือขบวนรถในทุกวันที่บารัคเดินทางในนามประธานาธิบดี เห็นแล้วมิเชลรู้สึกโล่งใจและอึดอัดไปพร้อม ๆ กัน
.
วันทำพิธีสาบานตนอากาศหนาวยะเยือกทำให้รู้สึกเหมือนอากาศติดลบสัก 15 องศา บารัคฝึกซ้อมเพื่อวางมือบนคัมภีร์ไบเบิลสีแดงเล่มเล็กซึ่งเมื่อ 150 ปีก่อนเคยเป็นของอับราฮัม ลินคอล์น ทั้งบารัคและมิเชลรู้ดีว่าวันนี้แทนความหมายอะไรบ้างต่อชาวอเมริกันมากมาย
บารัคเชิญฝูงบินทัสคีจี (Tuskegee Airmen) กลุ่มนักบินขับไล่ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักบินและทีมภาคพื้นผิวดำร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง
กลุ่ม Little Rock Nine นักเรียนผิวดำเก้าคนที่ทดสอบคำตัดสินของศาลสูงสุดที่ชี้ขาดให้การกีดกันเด็กผิวดำเข้าเรียนต่อเป็นเรื่องผิดต่อรัฐธรรมนูญในปี 1957 โดยหลังคำตัดสิน เด็กกลุ่มนี้สมัครเข้าโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งมีแต่เด็กผิวขาวที่รัฐอาคันซอ อดทนต่อการข่มเหงและความโหดร้ายอยู่หลายเดือนเพื่อยืนยันหลักการอันสูงส่ง

มิเชลจำอากาศสดชื่นตอนนั้นได้ เธอถือคัมภีร์ไบเบิลของลินคอล์นไว้แล้วบารัคก็วางมือซ้ายทาบบนนั้น สาบานว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ประโยคสั้น ๆ แค่สองประโยคแต่คือการน้อมรับหนักแน่นที่จะแบกรับทุกปัญหาของประเทศ
ตอนนี้โอบามาเป็นครอบครัวหมายเลขหนึ่งลำดับที่ 44
ได้เป็นครอบครัวผิวดำครอบครัวแรก และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป….

Credit:
https://www.hollywoodreporter.com/news/michelle-obama-wears-byron-lars-dress-new-first-family-official-portrait-274390
Obama, Michelle. Becoming. Crown Publishing Group, 2018. Print
นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี. Becoming. Amarin How To, 2019. Print

Becoming Us (Part II) Michelle Obama

Book Review นี้เป็นซีรีย์ของ Becoming
หนังสืออัตชีวประวัติของ มิเชล โอบามา
ที่ทำยอดขายไปกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก
.
ภาคสอง Becoming Us จะทำให้เห็นตัวตนของบารัค
ในมุมที่เราไม่เคยทราบ
และเห็นการเติบโตทางความคิดของมิเชล
ยามเมื่อได้ใช้ชีวิตเคียงข้างบุรุษที่เธอรัก
สมกับชื่อหนังสือว่า….Becoming
.
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ภาค

  • Becoming Me
  • Becoming Us
  • Becoming More

.
เสียงตอบรับกับ Review ภาคแรก
ทำให้เห็นว่ากว่าจะมีวันนี้ของมิเชล
เธอต้องผ่านบททดสอบของตัวเองจากครอบครัวผิวสี
มาอยู่ในสังคมแห่งโอกาสได้อย่างไร
.
สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่าน
เพื่ออรรถรสที่ต่อเนื่อง
สามารถอ่านภาคแรก Becoming Me ได้ที่นี่

.
Part II: Becoming US
.
บารัค โอบามา สร้างกระแสให้คนในบริษัทตื่นเต้น
เพราะเขาได้เข้าฝึกงานเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งที่ยังเป็นนักศึกษาปีแรก
ของปริญาญาโทด้านกฎหมาย
ในขณะที่ปกติบริษัทจะรับเฉพาะนักศึกษาฝึกหัดปีสอง
อาจารย์ซึ่งสอนเขายืนยันว่า
เขาเป็นนักศึกษากฎหมาย
ที่มีพรสวรรค์ที่สุดที่เคยพบ
คนในแผนกสัมภาษณ์ที่ได้เจอเขาต่างบอกว่า
เขาดูฉลาดปราดเปรื่องและน่ารัก
แต่มิเชลออกจะกังขากับกิตติศัพท์ที่ได้ยิน
.
วันแรกที่ได้เจอกัน บารัคอยู่ในสูทสีเข้ม
ยิ้มกว้างแจ่มใส ตัวสูงและผอมกว่าที่มิเชลคิดไว้
บารัคอายุย่างยี่สิบแปด แก่กว่ามิเชลสามปี
เป็นลูกชายของพ่อชาวเคนยาผิวดำ
กับแม่ผิวขาวจากรัฐแคนซัส
บารัคเกิดและโตในโฮโนลูลู
แต่ใช้เวลา 4 ปีในวัยเด็ก
จับจิ้งหรีดเล่นว่าวในอินโดนีเซีย
สมัยเรียนปริญญาตรี
ใช้ชีวิตปลีกวิเวกเหมือนฤาษีบนภูเขา
หมกตัวอ่านงานวรรณกรรมและปรัชญาชั้นสูง
ในอพารต์เมนท์ฝุ่นเขรอะ
เขียนบทกวีเจื่อน ๆ และอดอาหารทุกวันอาทิตย์
.
บารัคเล่าให้ฟังว่า
ที่เขาเลือกเรียนต่อด้านกฎหมาย
เพราะการทำงานพัฒนาระดับรากหญ้า
ทำให้เล็งเห็นว่า
การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ทางสังคม
ไม่ได้อาศัยแค่การลงมือของคนทั่วไป
แต่ต้องพึ่งพานโยบายที่ก้าวหน้า
และการทำงานของภาครัฐ
.
เขาไม่เหมือนนักศึกษาฝึกงานช่วงปิดภาคฤดูร้อนคนอื่น ๆ
ที่แสนจะกระตือรือร้น
(มิเชลเองก็เคยเป็นเช่นนั้น)
ในการหมั่นสร้าง Network
พร้อมใจจดจ่อว่า
จะได้ข้อเสนอพิเศษกับตำแหน่งงานประจำต่อไหม
เขามักเดินทอดน่องด้วยท่าทีวางเฉยสงบนิ่ง
ซึ่งดูเหมือนยิ่งทำให้เขาเนื้อหอมขึ้นไปอีก
.
ชื่อเสียงของเขาในบริษัทเด่นขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้เขาได้เข้าร่วมฟังการประชุมหุ้นส่วนระดับสูง
และถูกคาดคั้นให้แสดงความคิดเห็น
ต่อประเด็นที่อภิปรายในห้อง
หนึ่งในผลงานที่เป็นที่พูดถึงคือ
บันทึกจำนวน 30 หน้าเกี่ยวกับเรื่องบรรษัทภิบาล
ซึ่งเขาเขียนได้ทะลุปรุโปร่งตรงประเด็น
จนกลายเป็นที่เลื่องลือ
.
บารัคเป็นคนชอบใช้สมอง
ซึ่งบางทีก็มากเกินจนคนส่วนใหญ่รับไม่ไหว
มิเชลรู้ว่าเขาตะลุยอ่านหนังสือปรัชญาการเมืองเป็นเล่ม ๆ
เหมือนนอนอ่านหนังสือเล่นริมทะเล
รู้ว่าเหลือเงินเท่าไร
เขาก็เอาไปซื้อหนังสือจนเกลี้ยง
.
โลกของมิเชลเต็มไปด้วยผู้คนที่ทำงานหนัก
และเปี่ยมด้วยความหวัง
หมกมุ่นกับการไต่เต้ายกฐานะ
ซื้อรถใหม่ คุยเรื่องคอนโดห้องแรกที่เพิ่งซื้อ
ส่วนบารัคชอบเอาเวลาตอนค่ำ
ไปอ่านเรื่องนโยบายที่อยู่อาศัยในเมืองเงียบ ๆ คนเดียว
สมัยทำงานเป็นนักพัฒนาเขาทุ่มเทเวลา
เพื่อรับฟังคนยากจนสาธยายปัญหาอุปสรรคที่เจอ
ต่อมามิเชลจึงเข้าใจว่า
ความเชื่อมั่นในความหวัง
และศักยภาพในการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ของเขานั้น
ได้มาจากแหล่งซึ่งต่างไปโดยสิ้นเชิง
และไม่ได้เข้าถึงง่ายเลย
.
ถึงกระนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่
ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ตอนที่บารัคเป็นนักศึกษาฝึกงาน
.
บารัคเล่าว่าเขาเคยเป็นคนไม่เอาไหน
ไม่ค่อยยับยั้งชั่งใจ
ใคร ๆ ก็เลยเรียกชื่อเล่นเขาว่าแบรี่ ช่วง 20 ปีแรกของชีวิต
สมัยวัยรุ่นเขาสูบกัญชา
เขาเป็นทั้งคนผิวขาวและผิวดำ
เป็นทั้งคนแอฟริกันและอเมริกัน
เขาใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ
แต่ก็รับรู้ว่าตัวเองร่ำรวยสติปัญญา
ซึ่งยังผลให้โลกอภิสิทธิ์ชนเปิดรับเขา
บารัคไม่เคยพูดถึงเรื่องทางวัตถุ
เช่นเรื่องซื้อบ้าน ซื้อรถ
หรือแม้แต่ซื้อรองเท้าคู่ใหม่
เงินของเขาส่วนใหญ่หมดไปกับหนังสือ
ซึ่งสำหรับเขาแล้วเป็นเหมือนสิ่งของศักดิ์สิทธิ์
ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักสมอง
.
มิเชลเรียนรู้ความคิดจิตใจบารัคทำงานอย่างนี้เอง
ใจเขามักจดจ่อ
กับประเด็นปัญหานามธรรมสำคัญ ๆ
ด้วยพลังหล่อเลี้ยงจากสำนึกแปลกประหลาด
ว่าตัวเขาอาจทำอะไรบางอย่าง
กับปัญหาเหล่านั้นได้
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่สำหรับมิเชล
.
ถ้าหากครอบครัวมิเชลเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ครอบครัวบารัค
คงเป็นรูปทรงเรขาคณิตซึ่งวิจิตรพิสดาร
แอนน์ ดันแฮม แม่ของบารัค
เป็นนักศึกษาวัย 17 ในฮาวายเมื่อปี 1960
ตอนที่รักกับหนุ่มนักศึกษาชาวเคนยา
ชื่อบารัค โอบามา
ทั้งสองครองคู่กันเพียงช่วงสั้น ๆ
และสับสนเมื่อพบว่า
สามีใหม่หมาดของแอนน์มีภรรยาอยู่แล้วที่ไนโรบี
.
หลังหย่าร้างกันแอนน์แต่งงานใหม่
กับนักธรณีวิทยาชาวชวา
แล้วย้ายไปอยู่ที่จาการ์ตา
พาบารัค โอบามา จูเนียร์ ไปเมื่อตอนอายุ 6 ขวบ
บารัคย้ายกลับมาอยู่ที่ฮาวายเมื่อ 10 ขวบ
โดยอาศัยอยู่กับตายาย
ส่วนแม่ของเขาใช้วิธีเดินทางไปมา
ระหว่างฮาวายกับอินโดนีเซีย
บารัคสามารถรินหัวใจ
ผ่านปลายปากกาและงานเขียน
เขาเติบโตมากับจดหมาย
และความรักจากแม่แบบทางไกล
ส่วนมิเชลเป็นคนประเภทชอบคุยกันต่อหน้า
และโตมากับการร่วมวงมื้อเย็นที่บ้านคุณตา
.
มิเชลเริ่มเห็นตนเองว่า
เธอไม่เคยเป็นคนหมกมุ่นกับปัญหา
ที่บั่นทอนกำลังใจในการเป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน
เธอถูกเลี้ยงมาให้คิดบวก
ซึมซับความรักของครอบครัว
และความมุ่งมั่นของพ่อแม่
ที่อยากเห็นเธอประสบความสำเร็จ
แต่ไหนแต่ไรความมุ่งหมายของเธอ
คือมองพ้นละแวกบ้านไปข้างหน้าเพื่อมุ่งเอาชนะ
.
แต่พอได้เห็นและฟังความเป็นบารัค
มิเชลเริ่มเข้าใจความหวังในแบบของเขา
ซึ่งขยายกว้างไกลไปกว่าเธอ
เริ่มสำนึกว่าการพาตัวเอง
“ไปพ้นจากสถานที่ดักดาน”
นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง
ทว่าการพยายาม
“ทำให้สถานที่นั้นหายดักดาน”
ก็เป็นอีกเรื่องโดยสิ้นเชิง
.
สำหรับมิเชลการอยู่ร่วมกับสำนึก
เรื่องจุดมุ่งหมายอันแรงกล้าของบารัค
นอนร่วมเตียงกับมัน
นั่งกินอาหารเช้าร่วมกับมัน
เป็นสิ่งที่มิเชลต้องปรับตัว
ไม่ใช่เพราะเขาโอ่อวดความคิด
แต่เพราะมันเป็นชีวิตจริงเหลือเกิน
บารัคมั่นใจในการเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าเดิม
ทำให้มิเชลอดรู้สึกเคว้ง ๆ ไม่ได้
เมื่อมองเทียบกับตัวเอง
สำนึกเรื่องจุดมุ่งหมายของบารัค
ท้าทายสำนึกเรื่องนี้ของมิเชลแบบเงียบ ๆ
.
มีอยู่ครั้งหนึ่งมิเชลเคยเอ่ยปากกับแม่ของเธอว่า
เธอเริ่มไม่มีความสุขกับงานที่ทำ
หรือแม้แต่กับอาชีพที่ตัวเองเลือก
และเล่าถึงความกระวนกระวายใจของตัวเอง
เธอหวังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
แต่ก็กังวลเรื่องเปลี่ยนงาน
แล้วจะหาเงินได้ไม่มากพอ
เป็นอารมณ์ความรู้สึกดิบ ๆ
และรู้สึกเริ่มไม่เติมเต็ม
.
เมื่อบารัคใกล้เรียนจบปริญญาโท
ด้านกฎหมายที่ฮาร์วาร์ด
ทั้งคู่เริ่มพูดคุยกันเรื่องการแต่งงาน
ประสบการณ์สอนบารัคว่า
การแต่งงานเป็นเรื่องชั่วคราว
แม่เขาแต่งงาน 2 ครั้ง หย่า 2 ครั้ง
ซึ่งแต่ละครั้งก็เดินหน้าต่อ
โดยไม่ขาดตกบกพร่องกับชีวิต งาน หรือลูก
ส่วนพ่อแม่มิเชลครองคู่กันตั้งแต่อายุยังน้อย
และอยู่ด้วยกันมาตลอดชีวิต
ทั้งบารัคและมิเชลเถียงกันจริง ๆ หลายครั้ง
เรื่องค่านิยมในการแต่งงาน
มิเชลนิยมธรรมเนียมเดิม ๆ
แต่บารัคไม่
.
ช่วงระหว่างนั้นพ่อสุดที่รักของมิเชลก็จากไป
ด้วยอาการหัวใจวาย
เป็นประสบการณ์อันเจ็บปวดของมิเชล
ที่ต้องใช้ชีวิตหลังใครที่รักสุดหัวใจสักคนตายจาก
การสูญเสียของพ่อตอกย้ำให้เธอสำนึกว่า
ไม่มีเวลามัวนั่งคิดคำนึงแล้วว่า
ตัวเองควรเดินต่อไปอย่างไร
พ่อตายตอนท่านอายุเพิ่งห้าสิบห้า
บทเรียนตรงนั้นสอนมิเชลอย่างเรียบง่าย
ว่าชีวิตนั้นแสนสั้น
อย่าเสียเวลาไปเปล่า ๆ
.
ถ้ามิเชลตายไปเธอก็ไม่อยากให้ใครจดจำว่า
เธอเคยเขียนเอกสารด้านกฎหมายเอาไว้เป็นตั้ง ๆ
หรือจำว่าเธอเคยช่วยสู้คดี
ให้บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้าใด
เธอแน่ใจว่าตัวเองทำอะไรให้โลกได้มากกว่านั้น
ถึงเวลาที่เธอต้องขยับแล้ว
มิเชลจึงเขียนใบสมัครงานหาหัวหน้ามูลนิธิต่าง ๆ
รวมถึงองค์กรไม่แสวงกำไรที่เน้นทำงานกับชุมชน
.
ในที่สุดบารัคก็ขอมิเชลแต่งงาน
และมิเชลก็ย้ายงานใหม่
ในฐานะผู้ช่วยนายก ฯ เทศบาลเมือง
ด้วยเงินเดือน 60,000 ดอลล่าร์ต่อปี
ราว ๆ ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน
ที่สำนักงานกฎหมายจ้างเธออยู่ในขณะนั้น
แต่เดิมมิเชลไม่ค่อยศรัทธาในเรื่องการเมือง
ซึ่งเป็นแบบเดิม ๆ ที่กีดกั้นคนผิวดำ
ทิ้งให้คนเหล่านั้นด้อยการศึกษา
ไม่มีงานทำ ได้ค่าจ้างต่ำ
.
ทว่ามิเชลนึกอยากทำงานที่เทศบาล
แต่ก็นึกสะดุ้งกับรายได้ที่ลดฮวบ
ใจรู้สึกแปลบ ๆ ขึ้นมา
หากแต่ใจนั้นถูกกระทุ้งเงียบ ๆ
ให้มุ่งไปหาอนาคตซึ่งคงแตกต่าง
จากที่เธอเคยวางแผนไว้โดยสิ้นเชิง
ส่วนบารัคหลังเรียนจบก็ตกลงไปทำงาน
กับบริษัทกฎหมายที่มุ่งดูแลผลประโยชน์สาธารณะ
เอาชนะตัวเลือกมากมาย
ที่ดูจะเหมือนมีมาให้เขาเลือกตลอด
.
ช่วงแรกทั้งคู่เรียนรู้วิธีทะเลาะกัน
เหมือน ๆ คู่รักใหม่ทั่วไป
ที่มักจะเริ่มจากการมีปากเสียงด้วยเรื่องหยุมหยิม
เวลาโกรธมิเชลชอบตะเบ็งเสียง
คล้าย ๆ ลูกไฟพุ่งขึ้นตามสันหลัง
แล้วระเบิดรุนแรง
จนบางครั้งก็จำไม่ได้ว่าพูดอะไรออกไป
.
ขณะที่บารัคมักจะยังใจเย็นและใช้เหตุผล
ชอบพูดด้วยคารมคมรายยืดยาว
ซึ่งนั่นยิ่งชวนให้มิเชลหงุดหงิดเป็นอย่างมาก
ทั้งคู่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าใจว่า
ต่างฝ่ายต่างเพียงแต่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาต่างกัน
โดยไม่ได้เฉลียวใจว่าเส้นทางข้างหน้า
ที่รอให้ทั้งคู่จับมือเดินไปด้วยกัน
จนได้เป็นประธานาธิบดี
และสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ
กำลังรออยู่
.
ติดตามต่อใน Becoming More………

Becoming Me (Part I) Michelle Obama

ช่วงที่ผ่านมาได้ยินวลี Black Lives Matter กันอย่างกว้างขวาง
เลยทำให้นึกถึงหนังสือ Bestseller เล่มหนึ่งที่เคยอ่าน
.
Becoming (Michelle Obama)
.
หนังสืออัตชีวประวัติของ มิเชล โอบามา
ที่ทำยอดขายไปกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก
มิเชลไม่ใช่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรก
แต่เธอเป็นคนแรกที่เป็น “ผิวสี”

เธอถูกยกย่องให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก
พร้อม ๆ กับถูกตราหน้าว่าเป็น
“ผู้หญิงผิวดำเจ้าโทสะ”
คำไหนสำคัญกว่าระหว่าง
“เจ้าโทสะ” “ผิวดำ” หรือ “ผู้หญิง”
.
8 ปีที่พำนักอยู่ในทำเนียบขาว
ใช้ชีวิตแบบอลังการแปลก ๆ สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย
ไม่ว่าจะมีลิฟต์ในบ้าน ลานโบว์ลิ่ง คนจัดดอกไม้ประจำ
เตียงปูผ้าลินินอิตาลี ทีมพ่อครัวระดับโลก
รวมไปถึงตำรวจลับใส่หูฟังพกปืนวางหน้าเรียบเฉย
ยืนอารักขาหน้าประตูห้อง
และพยายามสุดฤทธิ์ที่จะไม่รบกวนชีวิตส่วนตัวของครอบครัว
.
สุดสัปดาห์นี้เลยนั่งเรียบเรียงเรื่องราวจากหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง
ด้วยมุมมองที่ทำให้เห็นรอยร้าวของการแบ่งแยกในอเมริกา
เพื่อให้เราได้เข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ
.
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ภาค

  • Becoming Me
  • Becoming Us
  • Becoming More

Part I: Becoming ME
.
สมัยเด็กมิเชลมีถิ่นพำนักอยู่ในชิคาโก
เมืองที่ผู้จัดการตามโรงงานใหญ่ ๆ หลายแห่ง
ชอบจ้างผู้อพยพจากยุโรปมากกว่าจ้างงานคนผิวดำ
และตามแหล่งจ้างงานใหญ่ ๆ ในชิคาโก
ต้องใช้บัตรสมาชิกสหภาพแรงงาน
แล้วถ้าคุณเป็นคนผิวดำ
โอกาสก็ริบหรี่ที่จะได้บัตรนั้น
.
ผู้ชายผิวดำสติปัญญาดีร่างกายแข็งแรงเหล่านี้
จึงถูกปิดกั้นช่องทางทำงานรายได้สูง
ซึ่งเท่ากับถูกกีดกันไม่ให้มีปัญญาซื้อบ้าน
ส่งลูกเรียนสูง ๆ หรือเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
มันทำให้เขาเหล่านั้นปวดใจที่ถูกกันออกไป
ต้องทนดักดานทำงานที่ไม่คู่ควรกับคุณสมบัติตัวเอง
เฝ้าดูคนขาวกระโดดแซงหน้าเรื่องการงาน
บางทีก็ต้องช่วยฝึกพนักงานใหม่ที่พวกเขารู้ดีว่า
สักวันอาจจะกลายเป็นเจ้านายตน
.
และนี่เป็นการเพาะเชื้อความขุ่นเคืองไม่ใว้ใจของชาวผิวดำ
.
สมัยเด็กมิเชลถูกพ่อแม่สอนในการเลือกใช้คำให้ถูกต้อง
เช่น พูดว่า “going” ไม่ใช่ “goin”
หรือพูดว่า “isn’t” ไม่ใช่ “ain’t”
ทำให้มิเชลถูกตั้งคำถามว่า
ทำไมถึงพูดจาเหมือนเด็กผิวขาว
และมองว่าเป็นการหักหลังคนผิวดำด้วยกัน
.
และนี่เป็นคำถามที่หลายปีถัดมาหลังจากได้แต่งงานกับบารัค
ซึ่งหลายคนมองว่าเขาแปลก
ด้วยผิวสีอ่อน พูดจาแบบชาวฮาวาย
แต่ถูกเลี้ยงดูมาโดยชนชั้นกลางผิวขาวในรัฐแคนซัสจนเติบใหญ่
และเรียนจบมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก
.
ช่วงไฮสกูล นับเป็นโชคดีของมิเชล
ที่สามารถสอบติดโรงเรียนมัธยมปลายชื่อดังในชิคาโก
ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอได้ค้นพบสังคมของ “คนผิวดำชั้นนำ”
เด็กผิวดำที่นี่มีพ่อแม่เป็นทนายความหรือแพทย์
เด็กเหล่านี้ได้ไปเล่นสกี ไปเที่ยวต่างประเทศ
ที่นี่มิเชลรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นคนฉลาด
แปลว่าเธอไม่จำเป็นต้องปิดบังสติปัญญาตัวเอง
เพราะเกรงจะโดนใครทักว่าพูดจาเหมือนเด็กผิวขาว
.
พ่อแม่ของมิเชลไม่เคยปริปากบ่นเครียดเลยสักครั้ง
ที่ต้องหาเงินจ่ายค่าเรียนให้กับลูก ๆ
มิเชลและพี่ชายคือการลงทุนของพ่อแม่
ทุกสิ่งทุกอย่างทุ่มเทให้ลูกทั้งคู่
.
เมื่อถึงเวลามองหามหาวิทยาลัย
มิเชลมีผลการเรียนอยู่ในท้อป 10% แรก
ของชั้นเรียนที่กำลังจะจบ
แต่บทสนทนาของเธอกับครูแนะแนว
กลับเริ่มด้วยประโยคที่ครูแนะแนวเห็นว่า
มิเชลอาจจะไม่เหมาะกับมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
ตอนนั้นมิเชลรู้สึกว่าครูกำลังบอกให้เธอมองต่ำไว้
ซึ่งตรงข้ามกับทุกอย่างที่พ่อแม่เธอเคยสอนมา
.
หากแต่มิเชลตัดสินใจผลักคำชี้ขาดจากครูแนะแนวคนนั้น
เพราะมันอาจรื้อฟื้นเสียงในใจเดิม ๆ ที่ว่า
เธอไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ
เธอจึงใช้วิธีสมัครเข้าเรียนพรินซ์ตัน
พร้อมกับเลือกสมัครที่อื่น ๆ เผื่อไว้ด้วย
โดยที่เธอไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ
จากครูแนะแนวที่โรงเรียนอีก
.
ในเรียงความที่เธอเขียนส่งเพื่อสมัครเรียน
แทนที่มิเชลจะแสร้งโอ้อวดว่าตัวฉลาดนักหนา
จนคิดว่าตัวเองสมควรได้เข้าไปอยู่ในเขตรั้วพรินซ์ตัน
ซึ่งมีเถาไอวีเลื้อยคลุม
เธอกลับเขียนเล่าเรื่องอาการป่วยของพ่อ
และการที่ครอบครัวเธอไร้ประสบการณ์เรื่องอุดมศึกษา
เธอโอบรับความจริงที่ว่าเธอกำลังไขว่คว้า
ซึ่งดูจากภูมิหลังแล้ว
ตอนนั้นเธอก็ทำได้แค่ไขว่คว้าจริง ๆ
.
แล้วในที่สุดมิเชลก็ทำสำเร็จในการพิสูจน์ตัวเอง
กับการได้ตอบรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน
.
พรินซ์ตันเป็นถิ่นของคนผิวขาวและเพศชาย
ด้วยจำนวนนักศึกษาชายที่มากกว่านักศึกษาหญิงเกือบสองต่อหนึ่ง
และนักศึกษาใหม่ที่เป็นคนผิวดำมีไม่ถึง 9 เปอร์เซนต์
ดูไปคล้ายเมล็ดงาดำที่โรยในชามข้าวนั่นแหละ
.
มิเชลจึงต้องคบเพื่อนผิวดำ
และต่างแบ่งเบาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
และในยามที่ต้องอยู่เป็นคนผิวดำคนเดียวในห้องเลกเชอร์
หรือเป็นหนึ่งในคนผิวสีไม่กี่รายที่ไปลองเล่นบทละคร
ในทีมที่มีแต่คนผิวขาว
ต้องอาศัยความพยายามและความมั่นใจในระดับที่ไม่ธรรมดา
.
หนึ่งเรื่องที่มิเชลเพิ่งมาทราบภายหลัง
จากรูมเมทชาวผิวขาวที่มาเล่าให้มิเชลฟังด้วยความอับอาย
ว่าแม่ของรูมเมทคนนั้นตกใจมาก
ที่ลูกสาวตนเองถูกจัดให้พักห้องเดียวกับคนผิวดำอย่างมิเชล
จึงไปรบเร้าจนทางมหาวิทยาลัยยอมให้แยกห้อง
.
ฤดูใบไม้ผลิแต่ละปีจะมีผู้สรรหาพนักงานใหม่ของบริษัทใหญ่ ๆ
ที่บุกมาถึงแคมปัสของพรินซ์ตัน
พุ่งเป้าไปยังนักศึกษาปีสุดท้ายซึ่งใกล้จะจบ
วันไหนมิเชลเห็นเพื่อนร่วมชั้นธรรมดา
ที่ชอบใส่กางเกงยีนมอมแมมกับเสื้อเชิ้ตปล่อยชาย
เดินข้ามแคมปัสในชุดสูทลายริ้วบาง
จะรู้ได้ทันทีว่าเพื่อนคนนั้นถูกจองตัวไปทำงาน
ที่ตึกระฟ้าย่านแมนฮัตตันนั้นแล้ว
.
เป็นการแยกย้ายสู่เส้นทางอาชีพอย่างฉับไว
ทั้งนายธนาคาร นักกฎหมาย แพทย์
หรือการได้ฝึกงานในบริษัทระดับ Fortune 500
.
มิเชลเองก็ไม่ต่าง
เธอยุ่งอยู่กับการไต่บันไดอันมั่นคง
เธอยอมรับว่าตัวเองไม่เพียงถูกผลักดันด้วยเหตุผลตามตรรกะ
แต่ด้วยความปรารถนาให้คนอื่นยอมรับด้วย
หนึ่งคำถามที่มิเชลมักสงสัยตนเองเสมอว่า
ฉันเก่งพอไหม
ใช่ ที่จริงเธอเก่งพอ
.
มิเชลได้งานเงินเดือนงามที่สำนักงานในชิคาโก
ของบริษัทกฎหมายชั้นนำบนชั้นสี่สิบเจ็ดของอาคารย่านกลางเมือง
สร้างตัวตนจนพ้นจากรถโดยสารสาธารณะแออัดยัดเยียดที่เคยขึ้น
ด้วยอายุแค่ยี่สิบห้าก็มีผู้ช่วย
ทำเงินได้มากมายกว่าที่พ่อแม่เธอเคยมี
เพื่อนร่วมงานล้วนสุภาพ เรียนสูง และส่วนใหญ่ผิวขาว
ใส่สูทอาร์มานี สามารถจ่ายหนี้เงินกู้เรียนกฎหมายทุกเดือน
และหลังเลิกงานก็ไปเต้นแอโรบิกออกกำลัง
ซื้อรถ SAAB ขับเพราะมีเงินจะซื้อ
.
เธอกลายเป็นนิติกรอย่างเต็มตัว
คอยช่วยวิเคราะห์ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงนามธรรม
ให้บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ
และเธอยังรับปากช่วยฝึกงานให้นักกฎหมายรุ่นน้อง
ที่ทางบริษัททาบทามเอาไว้
โดยที่ยังไม่เข้าใจถึงพลังที่บันดาลความเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
จากการตกปากรับคำไปง่าย ๆ แบบนั้น
.
และแล้วช่วงปิดภาคฤดูร้อน
นักศึกษาฝึกงานจากฮาร์วาร์ดที่ชื่อ
บารัค โอบาม่า ก็ปรากฏตัว
.
ติดตามต่อใน Becoming Us………

ฮาวทูทิ้ง ทิ้งปีเก่าแล้วก้าวสู่ปีใหม่

เป็นภาพยนตร์เข้าฉายช่วงสิ้นปี
ว่าด้วยเรื่องการปล่อยวางประสบการณ์ความทรงจำเดิม
เพื่อเริ่มสู่ชีวิตใหม่
ผ่าน Symbolic ในหนังกับการโละทิ้งสิ่งของที่มี

เรื่องราวเริ่มต้นที่นางเอกของเรื่อง (จีน)
มหาบัณฑิตจบจากสวีเดนย้ายกลับมาประเทศไทย
และต้องการจะ Renovate บ้านเดิม
ที่อาศัยกับครอบครัวมาหลายสิบปี
ให้เป็น Home office สไตล์ Minimalist แบบที่เธอชื่นชอบ
เรื่องราว ประสบการณ์ การเรียนรู้
และการเติบโตทางความคิดของนางเองจึงเริ่มต้นขึ้น


ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝึมือกำกับของเต๋อ นวพล
ผู้กำกับคนเดียวกับเรื่อง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ”
ที่ได้รับกระแสตอบรับดีก่อนหน้านี้
(อ่านรีวิวภาพยนตร์ฟรีแลนซ์ได้ที่นี่)
สำหรับหนังเรื่องนี้ถึงจะวางตัวเป็นหนังรัก
แต่ไม่ใช่หนังรักสไตล์ตึ่งโป๊ะ ดูแล้วขำ อมยิ้ม หรือฮากระจาย
แบบเรื่องก่อน ๆ หน้านี้ของเต๋อ
ช็อตขำคงได้แบบยิ้มที่มุมปาก
เพราะน้ำหนักไปอยู่ที่อารมณ์ดำดิ่งของหนังเสียมากกว่า

ฮาวทูทิ้งมีบางส่วนที่อ้างถึงการจัดบ้าน
จากหนังสือ New York Times Best seller ของมาริเอะ คนโด
ที่ชื่อว่า “The life-changing magic of tidying up”
หรือชื่อไทยว่า
“ชีวิตดีขึ้นทุกด้านด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว”
อ่านรีวิวของหนังสือเล่มนี้ได้ที่นี่

ในภาพยนตร์อ้างถึงวิธีการจัดบ้าน
ที่ก่อนจะทิ้งสิ่งของอะไร
ให้เราถือสิ่งของนั้นในมือแล้วถามตัวเองว่า
ของชิ้นนั้นยัง Spark joy ให้กับเราอยู่หรือเปล่า

นางเอกของเราทิ้งสิ่งของต่าง ๆ ไปอย่างง่ายดาย
โดยไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรทั้งสิ้น
มุมนี้หนังพยายามสื่อให้เห็นถึงคาแร็คเตอร์ของจีน
ว่าเป็นคนที่ไม่ผูกพัน
ไม่เชื่อมโยงความรู้สึกอะไรกับใครง่าย ๆ
ไม่สัมผัสว่าอดีตเคยทำบางเรื่องที่สร้างบาดแผลอะไรกับใครไว้

ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุนี้นางเลยพิศมัย Minimalist ด้วยหรือเปล่า
ที่ไม่ชอบความเยอะ รุงรัง ไม่ใช้สีสันฉูดฉาดใด
และในภาพยนตร์เองจีนปรากฏกายในทุกฉาก
ด้วยเสื้อสีขาว โทนเรียบง่าย
ผมเผ้าตัดสั้น ทัดหู หน้าตามีเครื่องสำอางบางเบา
ประกอบกับสีโทนของหนัง
ที่อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ
ทำโทนออกมาหม่น ๆ เรียบ ๆ

จะมีก็แต่นางเอกของเราที่รับบทโดย ออกแบบ ชุติมณฑน์
ที่แบกอารมณ์ซ่อนอยู่ลึก ๆ
ผ่านการแสดงบนสีหน้า แววตาตลอดทั้งเรื่อง
แบบ Less is More
หนังเรื่องนี้เลยเข้าทำนอง น้อยแต่หนัก
คือบทสนทนาที่แช่อยู่กับบางช็อตยาว ๆ
ไม่ปรู๊ดปร๊าดตัดฉับไปมา หรือให้ตัวละครต้องกระโดดโลดเต้น วี๊ดว๊ายยามไม่พอใจ

เรื่องราวดำเนินไปถึงจุดเปลี่ยนเมื่อนางเอก
พยายามจะนำสิ่งของที่เคยคิดจะทิ้ง
นำไปคืนให้เจ้าของแต่ละคน
เพราะเธอเริ่มตระหนักว่าของเหล่านั้นอาจไม่มีคุณค่าต่อเธอ
แต่อาจมีคุณค่าทางใจกับใครบางคน
ทำให้เธอมีโอกาสได้ยิน ได้ฟังความรู้สึก
อารมณ์ของเจ้าของสิ่งของแต่ละอย่าง
พร้อมอดีตที่เธอเคยมีส่วนในความทรงจำนั้น ๆ

ตรงนี้ภาพยนตร์ทำให้เราได้ยินเรื่องราวเดียวกันจากอีกมุมหนึ่ง
เหมือนเราเข้าไปสวมรองเท้าเป็นคนนั้น
(Put yourself into their shoes)
หรือหลายครั้งเราใช้คำว่า Empathy
(เอาใจเขามาใส่ใจเรา)
กระนั้นช่วงแรก ๆ นางเอกก็ยังปฏิเสธกับความรู้สึกนี้
และพยายามบอกตัวเองว่า
อย่าให้ “อีโม” (Emotion) เข้าครอบงำ

ไม่เว้นแม้แต่อดีตที่คุณแม่ของจีนผูกไว้กับเปียโนตัวโปรดของพ่อ
ผู้ซึ่งได้จากครอบครัวนี้และไปมีครอบครัวใหม่นานแล้ว
หากแต่แม่ของเธอยังไม่ยอมให้ทิ้งเปียโน
(ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเล่น)
และวนเวียนร้องเพลงคาราโอเกะ “กุหลาบแดง”
ซ้ำไปซ้ำมายามอยู่บ้าน
กินและนอนบนโซฟาตัวเดิม ๆ
(ใครนึกไม่ออกว่าเพลงอมตะนี้คืออะไรคลิ๊กลิงค์นี้)

แม่ของจีนเสมือนเป็นตัวแทนของคนที่ยังฝังใจอยู่กับอดีต
และยังไม่สามารถ “Move on”
(เป็นคำพูดที่จีนใช้บ่อย ๆ เพื่อตัดอะไรบางอย่างทิ้งจากชีวิต)

Setting ในฉากทำให้ผู้เขียนนึกถึงบรรยากาศที่บ้านตัวเองจริง ๆ สมัยยังเด็ก มันเหมือนมาก ๆ สำหรับบ้านที่เป็น Home Office แบบสมัยก่อน โต๊ะทำงานเหล็กที่คุ้นตา และโต๊ะเดียวกันที่ครอบครัวใช้เป็นทั้งโต๊ะทำงานและโต๊ะกินข้าว พร้อมปฏิทินตัวเลขใหญ่แบบแขวนข้างผนัง


เรื่องมา Peak ช่วงที่จีนได้รู้จักตัวเอง
ผ่านอดีตที่เธอเคยมีกับแฟนเก่าอย่างพี่เอ็ม
และเขาเป็นอีกหนึ่ง Item ที่ถูกเธอทิ้งแบบหายไปไม่กล่าวลา
ช่วงที่เธอย้ายไปเป็นนักศึกษาในสวีเดน

อารมณ์มาปะทุตอนที่เอ็มมาโพล่งช่วงท้ายของเรื่อง
ว่าตอนที่จีนนำของมาคืนพร้อมกล่าวคำขอโทษเขา
จีนทำทั้งหมดเพื่อใคร?
เพื่อเอ็มจะได้ยกโทษให้?
เพื่อจีนจะได้รู้สึกผิดน้อยลงกับตัวเอง?
มาช๊อตนี้ในฐานะคนดูเลยเหมือนโดนบทและผู้กำกับต่อยจนจุก
เริ่มสะอึกกับความตั้งใจเวลาเราขอโทษใครสักคน
ว่าหลายครั้งเราบอกว่าเรากล่าวขอโทษเพื่อใคร
เรารับผิดชอบจริง ๆ กับความรู้สึก
ความคิดของคนรอบข้าง
กับการกระทำ (ที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์)
ของเรามากน้อยแค่ไหน

ได้อ่าน Comment ของหลาย ๆ คนที่ดูเรื่องนี้
แล้วรู้สึกเกลียดจีน มองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ
ในบทเองก็ให้จีนพูดบ่อยเหลือเกินกับคำว่า
“เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง”
อันนี้ถือว่าบทและผู้กำกับทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
ที่ทำให้เรารู้สึกเยี่ยงนั้นต่อมนุษย์คนหนึ่ง

แต่เชื่อหรือไม่ว่าเราอาจพบเห็นคนลักษณะนี้บ่อย ๆ ในสังคม
(ส่องกระจกไปบางทีก็เจอ)
ที่เคยบอกตัวเองด้วยคำพูดแบบนั้นเวลาตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบรอบด้านที่เกิดขึ้นจากตัวเรา


เก๋เดินออกจากโรงหนังด้วยข้อคิด 2 เรื่อง

1. เวลาตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
เราได้สร้างผลกระทบกับคนรอบข้างอย่างที่เราอาจไม่เคยตระหนักบ้างไหม
(ในภาพยนตร์ใช้ตัวแทนผ่านการ “ทิ้ง”
ซึ่งจริง ๆ มันเป็นคำกริยาอะไรก็ได้ในชีวิตที่เรามีกับผู้คน)

2. พูดว่า “Move on” แบบนางเอกมันง่าย
แต่เอาเข้าจริงสำหรับบางเรื่องทำได้ไม่ง่ายเหมือนที่พูด
วิธีการคือเราควรมีการแทรกแซงปรับเปลี่ยน (Intervention)
หรือทำบางอย่างที่ออกนอกวิถีเดิม ๆ ที่เคยทำ
เพื่อเอาตัวเองออกไปเรียนรู้ แลกเปลี่ยน รับฟังมุมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยสัมผัส

อย่างในเรื่องถ้าจีนไม่เริ่มภาระกิจ
การไล่คืนของที่เธอเคยจะทิ้ง
ให้บรรดาผองเพื่อนหรือคนรักเก่า
(เพราะการทิ้งแบบเดิม โดยไม่พูดจา ไม่กล่าวอำลา
เป็น Pattern หรือวิถีเดิม ๆ ที่เธอเป็นอยู่แล้ว)
เธอคงไม่ได้เรียนรู้ชีวิตในมุมใหม่
ไม่ได้เติบโตทางความคิดในการสัมผัสกับความรู้สึก
ของคนอื่นแบบที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน
และนั่นเป็นความหมายของคำว่า Move on ที่แท้ทรู
คือไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรม
แต่รวมถึงจัดระเบียบมุมมองความคิดใหม่ต่อเรื่องเดิม
จึงจะสามารถทำให้เราก้าวไปข้างหน้าแบบไม่พะวงหลัง


แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ
ปีใหม่นี้ตั้งใจ Move on อะไรที่ออกจากวิถีเดิม ๆ ที่ตัวเองเป็นอยู่
เป้าหมายของปี 2020
จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยากหรือไกลตัว
ขนาดไปปีนยอดเขาชื่อดังเพื่อพิสูจน์ตัวเอง
แต่อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น
หยิบรองเท้าผ้าใบที่วางอยู่ในตู้มานานแสนนาน
ใส่แล้วเริ่มเดินหรือวิ่งแถว ๆ บ้านสัก 2-3 กิโลเมตร

บางคนอาจจะเป็นเรื่องงาน
ด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
เช่น ขับรถ วาดภาพ เขียนโค้ด
หรือบางคนอาจเป็นเรื่องความรักความสัมพันธ์
ด้วยการโทรคุยหรือนัดเจอคนที่เราไม่ได้คุยด้วยมานาน

เชื่อเถอะค่ะว่าคุณได้เรียนรู้อะไรที่ใหม่และแตกต่างแน่นอน
เรามาทิ้งปีเก่า (Let go) แล้วก้าวสู่ปีใหม่ (Move on)
แบบคนที่ดีกว่าเดิมในเวอร์ชั่นเรากันค่ะ
Happy New Year 2020!

Pictures Credit:
https://www.businessinsider.sg/minimalist-lifestyle-can-optimize-creativity-2019-2/
https://www.sanook.com/movie/93697/gallery/753753/
https://www.sanook.com/movie/93697/gallery/753773/
https://www.sanook.com/movie/93697/gallery/753777/
https://www.sanook.com/movie/93697/gallery/753785/
https://www.lovecomposer.com/2019/10/10/how-to-move-on-with-the-fantasy-of-dating-your-dream-guy-or-girl/

พูดให้เด็ดแบบ Ted Talks

Blog นี้จะมาย่อยหนังสือชื่อดัง
สำหรับสาย Talk หรือชอบ Story telling
เนื่องจากช่วงหลังเก๋มาศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น
เพราะมีโอกาสไปแบ่งปันในรูปแบบ Keynote หลายครั้ง



หลังจากได้ศึกษาและลองนำเทคนิคจากหนังสือหลาย ๆ เล่มมาทดลอง
พบว่าเล่มนี้แตกต่างจากเล่มอื่น ๆ ค่ะ
คือเล่มอื่น ๆ จะเป็นแนวที่เน้นเรื่องวิธีการพูดเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็น การเปล่งเสียง ภาษากาย การใช้อารมณ์ร่วม
แต่เล่มนี้โดดเด่นมาก ๆ
เรื่องการสร้างและร้อยเรียง Central Idea ที่ทรงพลัง

อย่างที่เราทราบกันว่า Ted Talks ให้เวลาผู้พูดจำกัด
แค่ 18 นาทีหรือน้อยกว่า
จึงเป็นการพูดที่เข้มข้น มุ่งหวังให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ฟัง
เข้าทำนอง ทำน้อยให้ได้มาก
จึงต้องมีเทคนิคและการวางกลยุทธ์การพูด
เพื่อพูดให้เด็ดแบบ Ted Talks



TED Talks: The Official TED Guide to Public Speaking
เขียนโดย Chris Anderson ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ความสำเร็จของ Ted Talk มาตั้งแต่ปี 2002
ชม TED Talks ของ Andersen ได้ที่นี่

บทต้น ๆ ที่ตอกย้ำเรื่องนี้
คือการอ้างถึงงานวิจัยชื่อดังที่ถูกอ้างถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ของ Albert Mehrabian (1967)
แต่ Andersen อ้างกลับมุมค่ะ!

คือหลาย ๆ คนมักจะใช้ผลงานวิจัยเพื่อบอกว่าประสิทธิผลของการสื่อสาร
55% มาจากภาษากาย
38% มาจากโทนของน้ำเสียง
และเพียงแค่ 7% มาจากภาษาคือคำพูดที่ใช้



Andersen บอกว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ตีความงานวิจัยคลาดเคลื่อน
ไปจากจุดมุ่งหมายเดิมของ Mehrabian
Mehrabian ตั้งใจจะสื่อถึงปัจจัยที่มาจาก “อารมณ์” ในการสื่อสาร
ว่าสามารถทำให้ตีความบิดเบือนถึงแม้จะเป็นคำพูดเดียวกัน
แต่กลายเป็นว่าเราเหมารวมกับทุก ๆ เรื่องในการสื่อสารว่าคำพูดไม่มีผล
จน Mehrabian เองเอือมระอาถึงขนาดมีข้อความตัวหนา
ใน Website ของเขาระบุเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ว่าอย่าประยุกต์ใช้ผิด ๆ!

บทที่สนุกและใช้ภาษาแสบ ๆ คัน ๆ อีกบทหนึ่ง
คือเรื่องของกับดักของ 4 สไตล์ในการพูดที่ควรเลี่ยง

1. Sales pitch (พูดเพื่อขายของ)

ผู้พูด: “เรื่องนี้ต้องใช้เวลาเล่า 3 วันนะครับ
ไม่มีทางที่ผมจะพูดได้ภายใน 15 นาที
จุดประสงค์ของผมคือบอกให้คุณทราบว่ามันเวิร์คอย่างไร
แล้วที่เหลือคุณจะได้เกิดแรงบันดาลใจไปหาข้อมูลเพิ่มเติม


มันอาจเป็นเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างคำว่า แบ่งปันความคิด
และ การขายของ ในมุมมองของแต่ละคน
หากสิ่งที่สำคัญคือ “การให้” ไม่ใช่ “การหาผลประโยชน์”

2. Ramble (พูดเรื่อยเปื่อย)

การพูดหลายเรื่องวกวนไปมา ไม่มีทิศทางชัดเจน
ไม่มีอะไรน่ารังเกียจ ไม่มีอะไรยากเกินเข้าใจ
แต่ก็ไม่มีความคิดที่ทรงพลัง ไม่มีความเกี่ยวเนื่อง
ไม่มี Wow moment และปราศจาก Takeaways



3. Org bore (โม้เรื่ององค์กรตัวเอง)

ประวัติศาสตร์อันยาวนาน คำสาธยายความสำเร็จของสินค้าเรา
เรื่องขององค์กรที่เราทำงานอยู่คงน่าสนใจ
แต่อาจจะน่าเบื่อที่มาเล่าวีรกรรมให้กับคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องฟัง

4. Inspirational performance (การแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ)

Speaker หลายคนฝันถึงเสียงเชียร์เมื่อเขาลงจากเวที
ตามด้วยทวีตเต็มหน้าจอที่สรรเสริญถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับ
นั่นอาจเป็นกับดักที่ทำให้ผู้พูดพยายามทุกวิถีทาง
ที่จะบงการความคิดและความรู้สึกของผู้ฟัง

เช่น ผู้พูดบางคนมีท่าทางดี ภาพและวิดีโอประกอบเด็ด
แต่…เขามักหยุดพูดบ่อยครั้ง
เพียงเพื่อรอเสียงปรบมือหรือเสียงหัวเราะจากคนฟัง
จากนั้นเขาจะกล่าวขอบคุณ
และเค้นเพื่อให้ได้เสียงปรบมือหรือเสียงหัวเราะมากขึ้นอีก
ซึ่งบางคนเริ่มไม่ขำด้วยแล้ว
ไป ๆ มา ๆ ก็เลยไม่ได้เข้าประเด็นที่เป็นหัวใจของหัวข้อที่พูด

นี่คือเปลือกที่ไร้ความหมายสำหรับการพูด Ted ที่ Andersen พยายามกำจัดทิ้ง
มีแต่รูปแบบ หากไร้ซึ่งแก่นสาร

พลังแห่งเรื่องเล่า (Narration)

4 ประเด็นที่ Andersen เน้นหนักหนาเมื่อเล่าเรื่อง ได้แก่
1. มีตัวละครที่ผู้ฟังเข้าถึง
2. มีปมในเรื่องให้คลี่คลาย เพื่อสร้างความอยากรู้อยากเห็น
3. มีรายละเอียดที่พอเหมาะ น้อยไปก็ไม่ชัด มากไปก็เวิ่นเว้อ
4. คลี่คลายตอนจบ แนวตลก ซาบซึ้ง หรือกระจ่าง



หนึ่งในสาเหตุที่ใบสมัคร TED ถูกปฏิเสธคือมีบทนำเสนอที่ดูน่าประทับใจ
แต่ไม่สามารถรวมความคิดแกนกลางที่ต้องการสื่อได้

การอธิบายเรื่องยาก ๆ (Explanation)

ลองจินตนาการถึงนักจิตวิทยาแห่งฮาร์วาร์ด
มาที่ TED เพื่อแบ่งปันแนวคิดอันซับซ้อนที่เรียกว่า
“Synthesized Happiness” (ความสุขสังเคราะห์) ในเวลา 21 นาที
โอ้แม่เจ้า!



Andersen สกัดเคล็ดลับการเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายมาแล้ว
1. เริ่มจากจุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน
2. แล้วจุดประกายด้วยคำพูดหรือคำถามที่ชวนสนใจใครรู้ (Curiosity)
3. แนะนำแนวคิดเพิ่มทีละเรื่อง
4. ใช้อุปมาอุปมัยเปรียบเทียบ
5. ใช้ตัวอย่าง

เช่น ผู้พูดอาจจะอธิบาย Experience simulator ในสมองโดยเกริ่นว่า
Ben & Jerry ไม่มีไอศครีมรสตับและหัวหอม
ไม่ใช่เพราะลองทำแล้วแหวะหรอกครับ
แต่เพราะความสามารถของสมองมนุษย์เรา
สามารถจินตนาการความแหวะโดยไม่ต้องลงมือทำด้วยซ้ำ

การโน้มน้าวใจ (Persuasion)

ในเวอร์ชั่นของ Andersen การโน้มน้าวใจหมายถึง
การทำให้ผู้ฟังยอมรับว่าแนวทางที่เขามองโลกนั้นไม่ถูกต้อง
พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดที่ดีกว่าเพื่อแทนที่



เทคนิคที่น่าสนใจในหนังสือ
นั่นคือ Priming (การเหนี่ยวนำ)
เป็นการนำอุปมาอุปมัยหรือเครื่องมือทางภาษา
มาทำให้ข้อสรุปดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
เครื่องมือดังกล่าวได้แก่

1. แทรกอารมณ์ขัน
2. เติมเรื่องเล่า
3. ยกตัวอย่างที่ชัดเจน
4. มีคำรับรองจากบุคคลที่สาม เช่น งานวิจัย
5. ภาพที่ทรงพลัง เช่น ใช้กราฟหรือแผนภูมิ

ทีนี้เมื่อคนฟังพร้อมคล้อยตาม เราก็อัดฉีดเหตุผล (Reason) ได้เลย

การเขียนบท (Scripting)

จะต้องท่องจำไหมกับบทพูด?
มี 2 ทางเลือกค่ะ
1. เขียนสคริปต์อย่างละเอียด (Scripted talks)
2. มีโครงสร้างการพูดที่ชัดเจนแล้วพูดสดไปทีละประเด็น (Unscripted talks)



ถ้าเป็นแบบมีสคริปต์ มีกลยุทธ์การใช้ 3 อย่าง
1.1 ท่องจำจนขึ้นใจ จนฟังดูเหมือนไม่มีบท
1.2 เหลือบดูบทบ้าง
สังเกตว่า Andersen ใช้คำว่า “เหลือบ” ไม่ใช่ “อ่าน” บท
1.3 สรุปให้เหลือหัวข้อย่อย แล้วพูดแต่ละประเด็นแบบสด

ถ้าจะใช้เป็นแบบไม่มีสคริปต์ขอให้เราแยกแยะให้ขาด
ระหว่าง “การไม่มีบท” กับการ “ไม่เตรียมตัว”

การเริ่มต้นและลงท้าย (Open and close)

หนึ่งนาทีแรกสำคัญมากสำหรับการเริ่มต้นการพูด
อย่าปล่อยให้เสียเปล่าด้วย Small talk สัพเพเหระ
เช่น เป็นเกียรติที่ได้มายืน ขอบคุณภรรยาผู้จัดงาน



4 วิธีเริ่มต้นอย่างมีพลัง

1. หยอดเรื่องเร้าอารมณ์ (Drama)
เช่น “น่าเศร้านะครับที่ในอีก 18 นาทีข้างหน้า
จะมีคนอเมริกัน 4 คนเสียชีวิตจากอาหารที่เขากิน

2. จุดประกายความอยากรู้ (Curiosity)
หนทางที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการตั้งคำถาม
แต่ไม่ใช่คำถามธรรมดา ควรเป็นคำถามที่ทำให้ประหลาดใจ

ตัวอย่าง
เราจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้มนุษย์ได้อย่างไร
Andersen บอกว่าอย่าถามแบบนี้ มันกว้างเกิน เฝือ และเขาเบื่อแล้ว
อะไรทำให้เด็กหญิงอายุ 14 ที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า $200
สามารถมอบหนทางที่ก้าวกระโดดให้กับคนในหมู่บ้านของเธอได้

อือม์ ฟังอย่างนี้ชักอยากรู้ขึ้นมาแล้วสิ

3. โชว์ภาพ วิดีโอ หรือวัตถุที่เร้าใจ (Compelling)
เช่น “ภาพที่คุณกำลังจะได้เห็นเปลี่ยนชีวิตผม

4. ยั่วเย้า เปลือยแต่ไม่โป๊ (Tease, but don’t give it away)
ระวังอย่าเผยหมดทุกอย่างตั้งแต่ย่อหน้าแรกที่เปิดตัว

วิธีลงท้ายอย่างมีพลัง

ข้อควรระวังในการพูดจบ
“เอาหล่ะเวลาหมดแล้ว ขอสรุปจบเลยละกัน”
(แปลว่ามีอะไรพูดแยะ แต่ไม่ได้พูดเพราะวางแผนไม่ดีงั้นสิ)
“ขอปิดท้ายด้วยวิดีโอนี้” (ปิดด้วยคำพูดของคุณเถอะ ได้โปรด)
“ขอโทษที่อาจไม่มีเวลาพูดประเด็นที่สำคัญ
แต่ที่พูดไปคงพอทำให้เห็นภาพ”
(ไม่ต้องขอโทษ วางแผนการพูดให้รอบคอบสิครับ)
“ขอบคุณวันเวลาดี ที่เราได้ใช้ร่วมกัน บลา ๆ”
(ขอบคุณเฉย ๆ ก็น่าจะพอนะ)



เราสามารถใช้วิธีลงท้ายอย่างมีพลัง เช่น
1. ถอยกล้องออกมามองภาพกว้าง (Camera pull-back)
2. เชิญชวนให้ลงมือทำ (Call to action)
3. ประกาศปณิธานของตนเอง แชร์วิสัยทัศน์หรือค่านิยม
4. ใช้บทกวี

พวกเราล่ะคะ ชอบเคล็ดลับไหนในหนังสือเล่มนี้บ้าง
ที่สำคัญที่ Andersen ย้ำบ่อย ๆ ในหนังสือคือ
เราต้องเชื่อว่า ไอเดียเราควรค่าแก่การแบ่งปัน
Ideas Worth Spreading


++++++++++++++++++++++++++++++++

Photos Credit:

http://media.the-ceo-magazine.com/leslieungar/one-simple-reason-ceo%E2%80%99s-give-boring-speeches
https://heathermonahan.com/speak-from-a-script-borrow-a-story/
https://pixabay.com/illustrations/storytelling-story-telling-tale-4203628/
https://www.khanacademy.org/science/health-and-medicine/mental-health/drug-abuse-and-drug-addictions/v/reward-pathway-in-the-brain
https://dorset-humanists1.blogspot.com/2018/10/influence-persuasion-how-to-get-other.html

4 เคล็ดลับที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่น่าร่วมงานและสร้างนวัตกรรม

ถ้าเทคโนโลยีเป็นเพียงครึ่งเดียวที่ทำให้ Google ประสบความสำเร็จ
แล้วอีกครึ่งที่เหลือคืออะไร
เป็นคำโปรยที่ทำให้สงสัยจนต้องหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน

เราเคยเข้าใจว่าการมีเทคโนโลยีหรือกระบวนการสร้างนวัตกรรมน่าจะเพียงพอแล้ว
แต่ความคิดนั้นต้องสะดุดเมื่อพบข้อความที่ว่า
“Culture eats strategy for breakfast!”

ประโยคนี้เป็นคำพูดของปีเตอร์ ดรักเกอร์
นักทฤษฎีด้านการบริหารผู้ทรงอิทธิพล
และประโยคนี้ถูกแขวนอยู่บนผนัง
ในห้องวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์
โดยประธานมาร์ก ฟิลด์ส ตั้งแต่ปี 2006
เพื่อเตือนว่าวัฒนธรรมและวิธีคิดที่แข็งแกร่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จ

Google นับเป็นบริษัทต้นแบบที่มีวิธีคิดและวัฒนธรรมอันแข็งแรง
ทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทั่วโลกมากมาย
รวมถึงได้รับการจัดลำดับเป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วย
ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีจากสถาบันชั้นนำมากมาย

ใน Blog นี้เราจะคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้นเป็น 4 วิธีการทำงาน
จากหนังสือ Work Rules โดย Laszlo Bock
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการด้านบุคคลของ Google

1. ทำให้งานของพนักงานมีความหมาย
(Give meaning to your employee’s work)

ไม่มีอะไรสร้างแรงจูงใจได้มากกว่าการได้รู้ว่าคุณกำลังเปลี่ยนโลกใบนี้
ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่าเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่แต่ละคนมีต่องาน
วิธีการคือขอให้หาความเชื่อมโยงระหว่างพนักงาน
กับคนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาทำ

เช่น เป้าหมายที่ทะเยอทะยานของ Google
คือการจัดระเบียบข้อมูลทั้งหมดในโลก
และทำให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์

แต่ถ้าเราเป็นแค่คนขายเนื้อสัตว์
มันจะมีความหมายอะไรต่อโลกใบนี้?
………ลองหาความเชื่อมโยงดู
เราก็กำลังทำให้คนมีอาหารกิน
แล้วช่างประปาล่ะ……….
เราก็กำลังพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอื่น
โดยทำให้เขามีน้ำสะอาดและมีคุณภาพชีวิต

2. ไว้ใจทีมงาน (Trust your team)

เป้าหมายสุดท้ายคือการสร้าง Entrepreneurship
หรือความรู้สึกที่เป็นเจ้าของกิจการให้กับพนักงาน
และหากเราเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดี
เราก็ไม่ต้องกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลให้พวกเขาได้รับรู้

ความโปร่งใส (Transparent) จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญใน Google
หนึ่งเรื่องที่เป็นที่พูดถึงมากคือเป้าหมายรายไตรมาสของพนักงานและทีม
(หรือที่เรียกกันว่า OKR “Objectives and Key Results”)
OKR ของทุกคนจะถูกเผยแพร่ใน Website ภายในของบริษัท
เพื่อให้ทุกคนได้เห็น
โดยอยู่ถัดจากหมายเลขโทรศัพท์และสาขาที่แต่ละคนทำงานอยู่

และทุกวันศุกร์ Google จะประชุมพนักงานทั้งบริษัท
โดยมีแลร์รีและเซอร์เกย์เป็นผู้นำการประชุม
ซึ่งพนักงานสามารถเข้าประชุมด้วยตัวเองหรือผ่านวิดีโอ
ในประชุมจะเป็นการอัพเดตข่าวสารจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
และที่สำคัญคือมีเวลา 30 นาทีเพื่อตอบคำถามอะไรก็ได้ที่คนอยากรู้
ไล่ตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระ (บางคนอยากรู้ว่าแลร์รีในฐานะ CEO จะสวมสูทบ้างไหม)
ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจหรือจริยธรรม

Google ยังให้พนักงานแบ่งเวลา 20% ของการทำงานในแต่ละสัปดาห์
ไปทำโครงการที่เขาสนใจ
ซึ่งโครงการนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับงานประจำ
แต่ต้องเกี่ยวข้องกับงานของ Google

3. จ้างแต่คนที่เก่งกว่าคุณเท่านั้น
(Only hire people who are better than you)

หากไม่ระวัง เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น
ก็จะยิ่งมีคนอยากรับเพื่อนฝูงหรือลูกหลาน
เข้ามาทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือสร้างสายสัมพันธ์
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะมีหัวกะทิตอนบริษัทยังเล็ก
และมีแต่คนที่สามารถปานกลางตอนบริษัทเติบโต

IQ เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ทำให้ใครสักคน
มีความคิดสร้างสรรค์หรือสามารถทำงานเป็นทีมได้
Google เชื่อว่าไม่มีใครสามารถสัมภาษณ์เพียงคนเดียว
แล้วตัดสินใจถูกทุกครั้ง

ที่นี่เวลาสัมภาษณ์คุณอาจพบผู้สัมภาษณ์งานจากฝ่ายอื่น
หรือผู้ที่จะมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตำแหน่งงานนั้น ๆ
มีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์ด้วย
เพราะท้ายที่สุดพวกเขาคือคนที่ต้องอยู่กับคุณ

Google ยังกำจัดสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำถึงลำดับขั้นอำนาจ เช่น
ผู้บริหารระดับสูงได้รับผลตอบแทน สวัสดิการ และทรัพยากรต่าง ๆ
เหมือนกันพนักงานใหม่
ไม่มีห้องอาหารสำหรับผู้บริหาร หรือที่จอดรถส่วนตัว

คุณสมบัติเด่น 4 ประการที่ใช้คัดเลือกคน ๆ หนึ่ง
ในการเข้าร่วมงานกับ Google

A) ความสามารถด้านการคิดโดยทั่วไป
เป็นการแก้ปัญหายาก ๆ อย่างไร โดยไม่ดูผลการเรียน

B) ความเป็นผู้นำ
โดยเฉพาะ “ความเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ”
เพราะแต่ละโครงการที่ Google แทบไม่มีผู้นำแบบเป็นทางการเลย

C) ความเป็น Google
รักสนุก
การไม่หลงความฉลาดของตัวเอง
(คือที่นี่จะมีแต่คนเก่ง ๆ เต็มไปหมด
และเราจะไม่เรียนรู้อะไรเลยถ้ายอมรับไม่เป็นว่าเราอาจคิดผิดก็ได้)
การรับมือกับความไม่ชัดเจนได้อย่างสบายใจ
และความใส่ใจ (Google อยากได้เจ้าของกิจการ ไม่ใช่ลูกจ้าง)

D) ความรู้ในหน้าที่การงาน
อันนี้สำคัญน้อยสุด เพราะ Google เน้นที่ความอยากรู้อยากเห็นและเปิดกว้างในการเรียนรู้
เพื่อจะคิดหาทางออกใหม่ ๆ อย่างแท้จริง

4. ให้ความเอาใจใส่กับคนที่ทำงานได้ยอดเยี่ยมและยอดแย่ของทีม
(Pay attention to your best and worst performers)

อย่ามองหาแค่คนที่มีความสามารถรอบด้าน
ให้มองหาคนที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ที่สุดด้วย

คุณค่าจำนวน 90% มักมาจากพวกหัวกะทิ 10% แรก
พนักงานที่เก่งที่สุดจึงมีค่ามากกว่าพนักงานทั่วไปอย่างมหาศาล
Google จึงให้ผลตอบแทนแบบไม่เป็นธรรม
เพื่อทำให้เขารู้สึกว่าเราเห็นคุณค่าของเขา

Laszlo Bock มักได้ยินคนพูดว่า
“ผมแค่อยากได้ผู้ช่วยที่คอยรับโทรศัพท์และบันทึกตารางประชุม
ผมไม่ต้องการคนฉลาด
ขอแค่คนที่ทำงานพวกนั้นได้ก็พอแล้ว”

นั่นเป็นความคิดผิดมหันต์
เพราะผู้ช่วยที่เก่งกาจจะช่วยงานผู้จัดการได้อย่างมหาศาล
เขาจะช่วยให้เราแบ่งเวลาได้ดีขึ้น
จัดลำดับและสับรางงานต่าง ๆ
รวมถึงเป็นหน้าเป็นตาให้กับผู้จัดการเวลามีคนติดต่อเข้ามา

ที่นี่นอกจากผู้จัดการจะไม่สามารถตัดสินใจรับคนตามลำพังได้
เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจเรื่องเงินเดือน
และการเลื่อนตำแหน่งโดยปราศจากข้อมูลของผู้อื่น

ในขณะเดียวกันควรเห็นใจคนที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดด้วย
สาเหตุมักมาจากการที่เขาได้ทำงานในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
ไม่ใช่เพราะพวกเขาไร้ความสามารถ
ควรช่วยให้พวกเขาเรียนรู้หรือหาตำแหน่งใหม่ให้

แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็ควรให้เขาออกทันที
การเก็บไว้ไม่ใช่ทางออก
พวกเขาน่าจะมีความสุขกว่าในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่คนที่ทำงานได้แย่ที่สุด

ล่าสุดมีผลวิจัยที่ทำมากว่า 10 ปี (Project Oxygen) เพื่อหาคำตอบว่า
คุณลักษณะของผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมแบบไหน
ที่จะเหมาะกับการเป็นผู้นำสำหรับ Google
1. เป็นโค้ชที่ดี
2. ให้อิสระกับทีมงานโดยไม่เข้าไปจุกจิกจู้จี้
3. สร้างบรรยากาศของความเชื่อใจและปลอดภัย
4. มุ่งเน้นผลลัพธ์ในงาน
5. เป็นนักสื่อสารที่ดี ฟังและแบ่งปันข้อมูล
6. ช่วยให้ทีมงานมีความเติบโตในสายงาน
7. สร้างวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน
8. มีความรู้ในงานที่ทำเป็นอย่างดีและสามารถให้คำแนะนำทีมงาน
9. ให้ความร่วมมือร่วมใจกับแผนกต่าง ๆ
10. ตัดสินใจเด็ดขาดและมุ่งมั่นในสิ่งนั้น

++++++++++++++

จากเคล็ดลับทั้งหมดข้างต้น
ข้อไหนที่คุณสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างประสิทธิภาพ
และน่าร่วมงานกับทีมของคุณมากที่สุดบ้างคะ

Photo Credit:
medium.com/@jonmichaelmoy/fostering-a-sustainable-company-culture-a55efd0421e5
https://business.linkedin.com/talent-solutions/blog/employer-brand/2019/linkedins-top-companies-2019
https://peakon.com/us/blog/workplace-culture/google-company-culture/
https://www.monster.com/career-advice/article/how-to-answer-job-interview-question-your-ideal-company
https://fortune.com/best-companies/2017/google/
https://news.abs-cbn.com/business/11/02/18/google-workers-around-the-world-protest-its-corporate-culture
https://www.entrepreneur.com/article/317582
https://www.businessinsider.com/the-best-bosses-do-these-things-according-to-google-2019-6?utm_content=buffer6cc2f&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer-bi#9-collaborates-effectively-9
หนังสือ “กฎการทำงานของ Google”