Makoto Marketing (การตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น)

ทำสินค้าที่ลูกค้า 1 คนซื้อ 100 ครั้ง
ดีกว่าสินค้าที่ลูกค้า 100 คนซื้อแค่ครั้งเดียว

น่าจะเป็นปรัชญาที่อยู่ภายใต้หนังสือการตลาดที่ใช้หัวใจนำเล่มนี้

ที่หยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเพราะเก๋เป็นอีกคนที่สงสัยว่าเพราะเหตุใด
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ
หลาย ๆ สินค้าและบริการในญี่ปุ่นจึงสามารถ
อยู่ในตลาด “ยืนยาว” ไปกับลูกค้าได้อย่าง “ยั่งยืน”
.
กับเคสธุรกิจกว่า 20 เรื่อง
ที่ผู้เขียนหรืออาจารย์เกด
บรรจงผูกเรื่องราวเริ่มต้นจากบริบทไทย
ข้ามไปฟังข้อคิดและแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่น
แล้วพาวกกลับมาประยุกต์ใช้กับสินค้าไทย ๆ ได้อย่างแยบยล
.
สิ่งที่น่าสนใจคือความงดงามและความสอดคล้องในแบบ Makoto
ซึ่งเก๋ขอขมวดและดึงบางประเด็นขึ้นมาดังนี้
.
1. Purpose – Product – Persistence
.
ทุกธุรกิจที่อาจารย์เกดกล่าวถึงในหนังสือ
ล้วนสร้างมาจากจุดยืนและจุดแข็ง
ถึงแม้ว่าการขยายโอกาสทางธุรกิจเป็นเรื่องที่จำเป็น
แต่หลายตัวอย่างในหนังสือชี้ให้เห็นว่าไม่ควรกระโดดไปทำเรื่องที่ไม่ถนัดหรือไม่มีความเชื่อ
.
ตัวอย่างแบรนด์ชา Ippodo กว่า 300 ปีที่ไม่ยอมขายสินค้าอื่น
และปฏิเสธการใช้ดารา นักแสดง หรือ Influencer ในการโปรโมต
แต่สามารถขายใบชาราคาแพง ๆ กิโลกรัมละเป็นแสนเยน
.
โดยใช้วิธีสร้างประสบการณ์จากความเชี่ยวชาญ
สอนให้ลูกค้ารู้จักวิธีดื่มชาให้อร่อย
และแฝงไว้ด้วยเสน่ห์ของการชงใบชา
เป็นความเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก ในแบบฉบับญี่ปุ่น

ถึงตอนนี้สงสัยไหมคะว่าจะ “รอด” อย่างไร
ในโลกความเป็นจริงที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง
มาดูตัวอย่างร้านขนม 500 ปีอย่าง “โทระยะ” กันค่ะ
.
ร้านขนมนี้ใช้วัตถุดิบอย่างดีไม่ต้องสงสัย
แถมได้รับความไว้วางใจให้เป็นร้านขนม
ส่งถวายจักรพรรดิ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1586
กว่าหลายร้อยปีที่ผ่านร้อนหนาว เขาเผชิญกับอะไรบ้าง
.
– สงครามโลกครั้งที่ 1 พลิกตนเองมาทำร้านกาแฟชั่วคราว
เพราะวัตถุดิบขาดแคลน
– สงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ใบปลิวโฆษณา เพิ่มบริการส่งถึงบ้าน
เพราะกำลังซื้อของลูกค้าลดลง
– ปี 1960 นำร้านขึ้นไปตั้งบนห้างตามยุคการได้รับความนิยมของห้างสรรพสินค้า และใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการ
– ปี 1970 เริ่มใช้เครื่องจักรผลิตขนมและจัดระบบโรงงาน
(คงมาพร้อม ๆ กับยุคสมัยที่ทฤษฏีการบริการจัดการกำลังแพร่หลาย)
– ปี 1980 ขยายตลาดไปต่างประเทศโดยเริ่มเปิดร้านขนมที่ประเทศฝรั่งเศส ตามยุคสมัยที่ญี่ปุ่นเริ่มคลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตก
– ปี 2000 ร้านขนมในฝรั่งเศสได้รับเลือกให้เป็นคาเฟ่ชื่อดังอันดับ 3 ในปารีส หลังความพยายามเกือบ 20 ปี ในการ Educate ชาวปาริเซียงให้รู้จักขนมวุ้นถั่วแดงแบบญี่ปุ่น
(และเก๋เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อแบบชาวญี่ปุ่น
บางร้านอาจจะปิดกิจการไปก่อนหน้านี้นานแล้วก็ได้)
.
สุดท้ายเก๋ได้เรียนรู้ถึงปรัชญาแบบญี่ปุ่นว่า
ถึงสินค้าและบริการจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเพียงใด
แก่นที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ความรู้สึกขอบคุณลูกค้า และอยากส่งมอบความสุข โดยใช้สิ่งที่ตนเองเชื่อและมีความถนัดเป็นจุดยืน

2. Problem – People – Promote
.
จุดเริ่มต้นของธุรกิจคือการแก้ปัญหา
หลายบริษัทในญี่ปุ่นพร่ำสอนให้พนักงาน
อย่าจดจ่อแค่ไล่ล่าตัวเลขยอดขาย
แต่ให้ใส่ใจในปัญหาของลูกค้าแล้วทำให้สุดกำลัง
.
อาจารย์เกดใช้คำเปรียบเทียบว่า
เป็นการบริหารทีมแบบ “วงออร์เคสตร้า
กล่าวคือทำงานแบบสอดประสานและให้โอกาสพนักงาน
ได้เสนอความคิดเห็น
ที่เป็นการช่วยลูกค้าให้ได้รับสินค้าและบริการที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น
.
สมการในหัวจึงถูกสลับลำดับจาก
หากเราสำเร็จ => ก็จะมีความสุข
เป็นการทำให้ลูกค้ามีความสุข => เมื่อนั้นสินค้าและบริการก็จะประสบความสำเร็จ
.
แต่เราจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไร
ลูกค้าจึงจะได้รับทราบความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะให้ลูกค้ามีความสุข (หรือคลายทุกข์) จากสินค้าและบริการที่ถูกสรรสร้าง
มาดู Storytelling สไตล์ญี่ปุ่นกันค่ะ
.
พวกเราเคยคิดจะซื้อเครื่องปิ้งขนมปัง
ราคาแตะหมื่นบาทกันไหมคะ
ใช่ค่ะ เก๋กำลังพูดถึง Balmuda The Toaster
เครื่องปิ้งที่แพงกว่าแบรนด์อื่น 8 เท่า
แต่ขายได้กว่า 100,000 เครื่อง


บริษัท Balmuda เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ที่เจ้าของลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 17 ปี
แล้วแบกเป้เดินทางไปสเปน อิตาลี โมร๊อกโกอยู่ 1 ปี
ตอนถึงสเปนวันแรกนั้นคุณเจ้าของน้ำตาไหล
เมื่อได้กลิ่นและได้ชิมขนมปังหอม ๆ อุ่น ๆ
หลังจากที่เดินทางมาเหนื่อยแสนเหนื่อยทั้งเมื่อยและเพลีย
นับเป็นความประทับใจที่ยากจะลืม
.
ในปี 2014 ขณะที่เขาและทีมงานกำลังจะปิ้งบาร์บีคิว
จู่ ๆ ฝนก็เกิดตกลงมาอย่างหนัก
เลยปิ้งบาร์บีคิวกลางสายฝน
ฝ่าย R&D วันนั้นหิ้วขนมปังติดมาด้วย
เลยได้ปิ้งขนมปังข้าง ๆ เนื้อย่าง
.
ขนมปังวันนั้นเรียกว่าอร่อยประทับใจ
ด้วยความกรอบของด้านนอก
แต่ยังคงความนุ่มอยู่ด้านในตรงกลางขนมปัง
ความคิดการสร้างเครื่องปิ้งขนมปังจึงเกิดขึ้น
.
แต่การทดลองประดิษฐ์เครื่องปิ้งล้มเหลวไม่เป็นท่า
และไม่สามารถเทียบเคียงความอร่อยของขนมปังในวันบาร์บีคิวได้เลย
ทีมงานสงสัยว่าเป็นเพราะถ่านไม้? ระยะห่างของไฟ? ตะแกรงปิ้ง?
จนใครสักคนเอ่ยขึ้นมาว่า “วันนั้นฝนตกหนักนี่นา”
.
เขาจึงได้คำตอบของเคล็ดลับนวัตกรรมอยู่ที่ความชื้นในการปิ้ง
และนั่นเป็นที่มาของเตาปิ้งขนมปังระบบไอน้ำ
ที่ทำให้ขนมปังอร่อยจนยากจะลืม
จนได้รับการรีวิวจาก Pen Magazine ว่า
“เป็นเครื่องปิ้งขนมปังที่จะทำให้เราอยากตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อกินขนมปังเลย”
.
อ่านเรื่องนี้แล้วคุณผู้อ่านเห็นวิธีการเล่าอย่างไรคะ
อาจารย์เกดไล่เรียงขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้นตอน
1) Inspire
เหตุใดแบรนด์ถึงสนใจผลิตสินค้า เกิดปัญหาอะไรขึ้น
2) Investigate
แบรนด์เผชิญความยากลำบาก หรือผิดพลาดอย่างไร
3) Impact
แบรนด์พบวิธีแก้ปัญหาอย่างไร สินค้าช่วยลูกค้าอย่างไร
สิ่งที่คนกล่าวขวัญถึงแบรนด์ สถิติ
.
เวิร์คไม่เวิร์คไม่รู้ รู้แต่พอเก๋อ่านมาถึงบทนี้
รีบกระโจนไป Search หาเครื่องปิ้งขนมปังดังกล่าวทันที
สุดท้ายตกหลุม Xiaomi ที่โผล่ขึ้นมาบนหน้าจอ Search engine
ด้วยหน้าตาเครื่องปิ้งขนมปังที่ดูผ่าน ๆ แล้วนึกว่าเป็น Balmuda
แต่ราคาย่อมเยากว่าเกือบ 5 เท่า
พร้อมคอลัมน์รีวิวที่เขย่าให้มือลั่นกดสั่งเอาง่าย ๆ
ผ่างงงงงงง
.
หรือคราวหน้าต้องไปหาหนังสือมารีวิวเกี่ยวกับวิธีคิด วิธีทำธุรกิจของแดนมังกร ที่ทำให้ทุกวันนี้ขยับอันดับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ
มาย่อยสรุปฝากคุณผู้อ่าน
ขณะกำลังทานขนมปังปิ้งระบบไอน้ำที่กรอบนอกนุ่มใน
ดีไหมคะ 😙

The Power of Output (ศิลปะของการปล่อยของ)

Book Review: ศิลปะของการปล่อยของ!
The Power of Output – How to Change Learning to Outcome
.
คุณว่าใครพัฒนาตนเองได้มากกว่าระหว่าง
A) อ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม และสร้าง Output 3 เล่ม
B) อ่านหนังสือเดือนละ 10 เล่ม และไม่ได้สร้าง Output ใด ๆ
.
จะเป็นหนังสือ หรือคอร์สออนไลน์ หรือสัมมนา
ก็เป็นบทสรุปเดียวกันที่หนังสือเล่มนี้บอกไว้คือ
แบบ A จะพัฒนาได้เร็วกว่ากว่าแบบ B
(ต่อให้เราอ่านน้อยกว่าก็ตาม)
.
และด้วยเหตุผลเดียวกัน หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ
เลยต้องรีบมาเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ทันที
เพราะนี่ถือเป็น Output รูปแบบหนึ่งใน 3 แบบ
ที่ผู้เขียนให้แนวทางไว้
ได้แก่ การพูด, การเขียน, และการลงมือทำ
และอัตราส่วนที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ
ระหว่าง Input : Output คือ 3 : 7
.
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจิตแพทย์ค่ะ
คุณหมอแนะนำตนเองด้วยสถิติ Output ของการ
เขียนหนังสือทุกวัน ๆ ละ 3 ชั่วโมง และมีหนังสือมาแล้ว 28 เล่ม
.
ที่สะดุดใจคือ Output ดังกล่าวนั้น
คุณหมอไม่ทำงานหลัง 6 โมงเย็น
ได้ดูภาพยนตร์เดือนละ 10 เรื่อง
เข้าฟิตเนสสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง
และเที่ยวต่างประเทศปีละ 30 วัน
.
น่าสนใจขึ้นมาทันทีว่าคุณหมอทำได้อย่างไร
โดยเก๋เลือกมา 13 ข้อ ครอบคลุมเรื่องเด็ด ๆ จากทั้งการพูด เขียน ลงมือทำ
แบบกระชับฉบับเน้น Output!
.
หลักการของการสร้าง Output มี 3 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกคือการพูด

.

  1. เวลาพูดถึงสิ่งต่าง เราสามารถทำให้ Output เรามีพลังมากยิ่งขึ้น
    ด้วยการพูดข้อเท็จจริง และเสริมด้วยความรู้สึกและความคิดเห็น
    การสื่อสารก็จะดูมีมิติ น่าสนใจ น่าติดตาม
    .
  2. หากเราต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยการพูดคุย
    Output อยู่ที่ความบ่อย ไม่ได้อยู่ที่ความเยอะในแต่ละครั้งที่พูด
    ยิ่งถี่ยิ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น
    .
    3.หากจะปฏิเสธใครก็อย่าให้เขาไม่มีทางออก
    วิธีปฏิเสธที่ยังคงประสิทธิภาพเริ่มจาก
    ขอโทษ -> เหตุผล -> คำปฏิเสธ -> ให้ข้อเสนอใหม่
    .
  3. หากจะต้องดุใคร จะเป็นหรือไม่เป็นผล
    คนนั้นจะยอมรับมากน้อยแค่ไหน
    อยู่ที่ความสัมพันธ์ที่เชื่อใจกันมาเป็นทุนเดิม
    .
  4. การเปิดเผยเกี่ยวกับตนเองให้อีกฝ่ายได้รับรู้
    ช่วยสร้างให้ต่างฝ่ายต่างรู้จักกันมากขึ้น
    งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าปกติแล้วคนเราจะมีสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง
    กับคนที่เป็นเพื่อนแท้ที่เราสามารถขอคำปรึกษา หรือปลอบเรายามทุกข์
    อย่างมากไม่เกิน 10 คน
    ดังนั้นหากเรามีเพื่อนแท้สัก 3 คนก็น่าจะเพียงพอแล้ว
    .

กลุ่มที่สองเป็นเรื่องของการสร้าง Output ด้วยการเขียน

.

  1. To do list คืองานที่สำคัญที่สุดของวันที่ต้องทำเป็นอย่างแรกในตอนเช้า
    .
  2. การจดโน้ตที่ได้ผลคือการแบ่งเนื้อหาของการจดเป็น 70-20-10
    70% สำหรับเนื้อหาที่สำคัญ (Information)
    20% สำหรับเรื่องที่เราค้นพบ (Aha, Insight)
    10% สำหรับสิ่งที่เราตั้งใจลงมือทำ (Action)
    .
  3. การเขียนไอเดียบน Analog VS. Digital มีประโยชน์ต่างกัน
    ลักษณะของการเขียนบน Analog (เช่น เขียนด้วยมือ)
    – ออกไอเดียได้ง่าย
    – ได้ Sense ในการมองเห็น สัมผัส รู้สึก
    – แต่แชร์ได้ยากกว่าการเขียนบน Digital
    ลักษณะการเขียนบน Digital (เช่น พิมพ์บน Device)
    – สรุปไอเดียง่าย (เชิงรูปธรรม)
    – เห็นเป็นคำพูด เป็นเหตุเป็นผล
    – แต่ไม่ค่อยได้ Sense สัมผัส ขยับมือ สมองทำงานได้ยากกว่า Analog
    สรุปว่าให้เลือกใช้การเขียนให้ถูกกับจุดประสงค์
    .
  4. การเตรียมสไลด์นำเสนอ
    แนะนำให้ร่างจาก Analog -> Digital ด้วยการ
    1) ร่างไอเดีย โดยใช้สมุด ปากกา เพื่อกระตุ้นสมอง
    2) วางโครงสร้าง โดยใช้ฟังก์ชั่น Outline ใน MS Word
    3) ทำสไลด์ โดยใช้ PowerPoint
    .
  5. การนำเสนอบน Whiteboard VS Slide มีประโยชน์ต่างกัน
    Whiteboard:
    – มีส่วนร่วม กระตุ้นการโต้ตอบ
    – พูดสดได้
    – ใช้ในการประชุม การเรียน ระดมความคิดที่คนไม่เยอะ
    Slide:
    – เน้นฟังบรรยาย ไม่มีโต้ตอบ
    – สามารถเตรียมล่วงหน้า
    – ใช้ในการบรรยาย สัมมนา คนจำนวนมาก
    .

กลุ่มสุดท้ายเน้นการสร้าง Output ที่การลงมือทำ

.

  1. การสอนต่อโดยใช้หลักการ Learning Pyramid
    การสอนทำให้เรามองเห็นได้ชัดว่า ตัวเองเข้าใจดีแค่ไหนและยังบกพร่องตรงไหนบ้าง
    เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
    .
  2. ท้าทายตัวเองให้ทำสิ่งที่ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไป
    หากง่ายเกินไป (Safe zone) สารโดพามีนไม่หลั่ง ไม่ตื่นตัว
    หากยากเกินไป (Danger zone) สารโดพามีนไม่หลั่ง เพราะเกิดความกลัวหรือกังวลแทน
    หากยากกำลังพอดี (Learning zone) สารโดพามีนจะหลั่ง เพราะร่างกายตื่นตัว กระตือรือร้นพร้อมทดลองเรียนรู้
    .
  3. การเป็นผู้นำ
    ให้เอ่ยถึง “วิสัยทัศน์” แทน “เป้าหมาย” เช่น
  • วิสัยทัศน์ = ให้ความรู้ด้านจิตวิทยาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยลดจำนวนคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
  • เป้าหมาย = เขียนหนังสือที่ขายดีได้ถึง 1 ล้านเล่ม
    จะเห็นว่าเมื่อพูดถึงวิสัยทัศน์ คนจะคล้อยตามได้ง่ายกว่า เพราะวิสัยทัศน์มักเป็นการทำเพื่อผู้อื่น
    ในขณะที่เป้าหมาย มักเป็นความจริง เป็นผลประโยชน์
    .
    โดยรวมเก๋มองว่าผู้เขียนเป็นคนที่มีวินัยเยี่ยมยอดคนหนึ่งเลยทีเดียว
    และเป็นคนที่ใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเองในการถ่ายทอดเทคนิคการสร้าง Output
    โดยที่พยายามค้นคว้าหางานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนเทคนิคต่าง ๆ ที่เล่าในหนังสือ
    ไม่ว่าจะเป็นกลไกของการทำงานของสมองเรากับเทคนิคต่าง ๆ ที่ผู้เขียนแนะนำ
    .
    จนเก๋เองต้องมี Output ที่เป็นรูปธรรมสักชิ้นสองชิ้น
    หลังจากอ่านและอินกับข้อเสนอแนะของผู้เขียน
  • ชิ้นแรกคือสมุดและเครื่องเขียนสวย ๆ ที่ผู้เขียนแนะนำให้เตรียมไว้เพื่อสร้าง Output งานเขียนที่เอื้อให้เราได้สนุกกับมัน
  • Output อีกชิ้นก็คงเป็นบทความเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่คุณผู้อ่านกำลังกวาดสายตามาจนถึงบรรทัดนี้แหละค่ะ
    .
    และคุณผู้อ่านล่ะคะ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว
    นึกอยากสร้าง Output อะไรสักอย่างของตัวเองบ้าง
    .

4 แนวคิดกับ Start With Why (ตอนที่ 2)

เรากำลังพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ Bestseller ที่ชื่อว่า Start With Why
และบทความนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจาก Blog ที่แล้วที่ปูพื้นที่มาที่ไป รวมถึงแนวคิดหลักจากหนังสือ
คลิ๊กลิงค์นี้เพื่ออ่านบทความย้อนหลังตอนที่ 1
คราวที่แล้วทิ้งท้ายไว้ว่า Blog นี้จะมาคุยต่อในเรื่องของการใช้ในธุรกิจ

เราจะเห็นได้ว่าแนวคิดพื้นฐานจากหนังสือ เช่น Golden Circle, การทำงานของสมองมนุษย์
เกี่ยวข้องกับการยอมรับของสินค้าและบริการต่าง ๆ
ซึ่งนำมาถึงแนวคิดถัดมาคือเรื่องของ Law of Diffusion

3. แนวคิดเรื่อง Technology Adoption ครั้งแรก ๆ เริ่มตั้งแต่ปี 1962 จากต้นตำรับคือ Everette M. Roger ในหนังสือ Diffusion of Innovation (การแพร่กระจายของนวัตกรรม)

diffusion book
Rogers เป็นคนแรกที่เล่าถึงปรากฏการณ์การยอมรับของนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วยระยะเวลาที่ต่างกันเป็นรูประฆังคว่ำ

chasm 1
เขาอธิบายกลุ่มลูกค้าที่ตอบรับนวัตกรรม ณ เวลาที่ต่างกันไว้ดังนี้
– Innovator (กลุ่มล้ำสมัย) เป็นคนกลุ่มแรกที่รับเอานวัตกรรมได้เร็วที่สุด คิดเป็น 2.5% ของประชากรทั้งหมด
– Early Adopters (กลุ่มนำสมัย) เป็นกลุ่มที่สอง คิดเป็น 13.5%
– Early Majority (กลุ่มทันสมัย) ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประชากร คิดเป็น 34%  ความสำคัญของกลุ่มนี้คือ ถ้าสินค้าหรือบริการไหนได้คนกลุ่มนี้ไป  จะมีแนวโน้มเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาด
– Late Majority (กลุ่มตามสมัย) คิดเป็น 34%
– Laggards (กลุ่มล้าสมัย) คิดเป็น 16%

30 ปีถัดมา Geoffrey Moore ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford นำแนวคิดมาขยายต่อแต่เน้นในเรื่องของการทำตลาดกับสินค้าไฮเทคในหนังสือชื่อว่า Crossing the Chasm
หรือถ้าใครรักชอบด้านสังคมวิทยา Malcom Gladwell มีแนวคิดประยุกต์จากเรื่องนี้คล้าย ๆ กันในหนังสือ The Tipping Point ไปตามอ่านกันได้ค่ะ


Simon Sinek บรรยายให้เห็นภาพว่ากลุ่มคนที่เป็น Innovator นั้นคิดล้ำและพร้อมจะท้าทายกลุ่มคนที่เหลือด้วยมุมมองความเชื่อที่แตกต่างของเขา
สังเกตไหมคะว่า “ความเชื่อ” หรือ Why โผล่มาแล้ว

คนกลุ่มนี้คือ คนที่พร้อมจะยืนรอต่อแถวนานนับหลายชั่วโมง เพียงเพื่อจะเป็นคนแรก ๆ ที่มี iPhone X ไว้ในครอบครอง  ทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นอาจจะยังเป็นรุ่นแรก ๆ และยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง
แต่มันเทียบไม่ได้กับ “ความฟิน” ที่ได้สัมผัสและรู้จักนวัตกรรมเป็นคนแรก ๆ ค่ะ
เพราะ Limbic brain ของเขาทำงานไปพร้อม ๆ กับความเชื่อนี้

ในขณะที่คนกลุ่มอื่น ๆ ที่ Neocortex ทำงานมากกว่า ก็จะยังไม่เข้าใจหรอกว่าไปต่อแถวรอทำไม
ในเมื่ออีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมาก็จะมี iPhone X วางขายทั่วไปในร้านอยู่แล้ว  และอาจจะได้โปรโมชั่นราคาดี ๆ ก็เป็นได้
ใช่ค่ะ สมองของคนต่างกลุ่มมีโฟกัสที่ต่างกัน
และเราแต่ละคนก็สามารถอยู่ในต่างกลุ่มกับสินค้าหรือไอเดียที่ต่างกัน

ทีนี้มันเกี่ยวกับการทำธุรกิจเพื่อเป็นผู้นำตลาดในการตอบรับสินค้าและบริการตรงที่
ใคร ๆ ก็อยากครองส่วนแบ่งการตลาดใช่ไหมคะ
แนวคิดนี้สอดคล้องกันทั้งจากหนังสือ Crossing the Chasm และ  The Tipping Point

chasm 2

เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือเจ้าของไอเดียอยากได้ Early Majority (กลุ่มทันสมัย) ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ไว้ในครอบครอง
ถามย้อนกลับว่ากลุ่มนี้จะคิดพิจารณาว่าจะยอมรับเมื่อไร
ก็เมื่อเขาได้ “เห็น” แล้วว่าสินค้าหรือไอเดียนั้น ๆ น่าสนใจเพราะมีหลาย ๆ คนลองมาก่อนหน้านี้
แปลว่าเราต้องมี Innovators และ Early Adopters ไว้ในมือ

นึกไปถึงตัวอย่าง iPhone X ด้านบนนะคะ
เจ้าของสินค้าหรือไอเดียจึงต้องมี Why ที่ชัดเจนที่จะดึงดูดและสื่อสารคนกลุ่มนี้ให้มีความเชื่อเดียวกันและพร้อมจะยอมรับและ Take action ใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนแนวคิดที่เขาเชื่อ

Simon ยังยกตัวอย่างสายการบิน Southwest สายการบินนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1970
ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจการบินครองส่วนแบ่งแค่ 15% ของการเดินทางทั้งหมดในอเมริกา
แปลว่ามันยังเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ที่เดินทางทางอากาศ
Southwest ไม่ได้แข่งกับสายการบินด้วยกัน ใน 15% นั้น
แต่เขาเล็งไปที่ส่วนแบ่งการตลาดของวิธีการเดินทางหลักคือรถยนต์

southwest

Southwest airline จึงมีแนวคิดใหม่ ๆ ว่าทำไมต้องทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องยาก
Why ของสายการบินนี้คือ “เป็นตัวแทนของคนธรรมดา”
(We are the champion of the common man)
ในขณะที่สมัยนั้นผู้โดยสารยังใส่สูทขึ้นเครื่องบิน
How ของ Southwest จึงเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง การไม่มีพิธีรีตอง บรรยากาศสบาย ความเรียบง่าย
และทำให้สายการบินนี้ได้รับความนิยมและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีว่าทำไมเจ้าของธุรกิจควร Start With Why!

Blog สุดท้ายในซีรีย์นี้จะนำเสนอเรื่องการนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในแง่ของการสื่อสาร
ว่าจะพูดภาษา Why กันอย่างไร
โดยเฉพาะในมุมของการเป็นผู้นำที่จะสื่อสารให้คนอินและเอาด้วยกับเรื่องใหม่ ๆ ที่เราต้องการให้เกิดขึ้น

เครดิตภาพ:
http://creatoz.eu/best-prezi-presentation-templates/diffusion-of-innovation-diagram-prezi-presentation-template/
https://www.researchgate.net/figure/5-Diffusion-of-Innovation-The-Chasm-and-The-Tipping-Point-Once-the-The-Tipping_fig5_301789991
http://fox17.com/news/local/southwest-airlines-flight-hits-bird-returns-to-nashville

4 แนวคิดกับ Start With Why (ตอนที่ 1)

เก๋มีโอกาสได้อ่านหนังสือ Start With Why: How Great Leaders Inspire Action อีกครั้ง
ซึ่งเป็นหนังสือติดอันดับขายดีจากทำเนียบ New York Bestseller
และผู้เขียน Simon Sinek ก็มีชื่อเสียงมาจาก Ted Talk ที่ตนเองพูดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
สามารถชม Ted Talk ดังกล่าวจากลิงค์นี้ได้ค่ะ

simon

รอบนี้อ่านไปทำโน้ตไปเพราะต้องนำไปขยายความและแบ่งปันต่อให้กับผู้เรียน
(เก๋ทำ Book Club ให้กับลูกค้าเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน)
เลยมีประเด็นน่าสนใจจากการเรียบเรียงมาแบ่งปันให้กับคุณผู้อ่านอยู่หลายเรื่องค่ะ

book club 1

1. เรื่องแรกคงหนีไม่พ้น The Golden Circle ที่เป็นแนวคิดหลักของหนังสือ

ผู้เขียนบอกว่าคนเราทั่วไปมักสื่อสารในภาษา What ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนได้ง่าย
แต่ถ้าอยากให้คนรับสารได้รับแรงบันดาลใจ ควรเริ่มจาก Why

golden-circle

– เพราะ Why คือจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและความเชื่อของผู้พูด (Belief)
– How คือวิธีการที่แน่วแน่ เป็นการลงมือทำ (Action)
– ในขณะที่ What คือผลลัพธ์ของวิธีการที่แน่วแน่นั้น (Result)

ฟังดูน่าขมวดคิ้วใช่ไหมคะ ว่าความเชื่อเนี่ยนะจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเคลิบเคลิ้ม
ผู้เขียนเลยเล่าต่อด้วยการเชื่อมโยงไปกับการตัดสินใจทางชีวภาพ (Biology) ของผู้รับสาร
และเป็นที่มาของแนวคิดที่สองคือการทำงานของสมองมนุษย์

2. สมองมนุษย์มีส่วนที่เรียกว่า Neocortex (ใช้เพื่อการรับรู้ด้านที่เป็นตรรกะ เหตุผล และภาษา)
และ Limbic (ใช้รับรู้เรื่องอารมณ์ ความรู้สึกและการตัดสินใจ)

brain 2

เวลาที่เราสื่อสารด้วยคำอธิบาย หลักฐาน จากส่วนของ What
สิ่งที่เหล่านี้เชื่อมไปกับ Neocortex ซึ่งมักจะลงท้ายด้วยการ Overthinking
ในขณะที่เราสื่อสารด้วยภาษา Why ที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก
มันจะไปกระตุกส่วนที่เป็น Limbic Brain ที่กำหนดการตัดสินใจแบบ Intuition (ใช้สัญชาตญาณ)

เปรียบเทียบง่าย ๆ เราทราบเหตุผลและความสำคัญของการไม่ทานแป้งและขนมหวานเพื่อสุขภาพใช่ไหมคะ
แต่เพราะอะไร (ทั้งที่ไม่ได้หิวจนตาลาย) เราจึงอดใจไม่ไหวกับการขอทานขนมที่โปรดปราน
ความรู้สึก “ชนะ” เหตุผลสิคะ
ดังนั้นการสื่อสารใดที่พุ่งไปยังส่วนของ Limbic Brainได้  มีโอกาสได้รับการตอบสนองสูง

Simon Sinek ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เช่น Apple ที่ไม่ว่าจะพิจารณาด้วยเหตุผล หรือคำนวนจากมุมไหน
ทั้งประสิทธิภาพ Specification ฯลฯ เมื่อเทียบกับราคาอันสูงลิบแล้ว
ไม่มี “เหตุผล” ให้ชวนซื้ออย่างยิ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น
แต่อย่าได้พูดอย่างนี้กับสาวก Apple เลยทีเดียว (= รัก ชอบ มี Feeling ที่เหนียวแน่นกับผลิตภัณฑ์)
Limbic Brain เขาจะทำงานทันทีว่า Apple สิดีกว่า
ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของ Neocortex ที่จะสรรสร้างเหตุผลมาหักล้างว่า Apple ยอดเยี่ยมกว่าตรงไหนบ้าง
มนุษย์ตัดสินใจด้วยอารมณ์ และฉลาดพอที่จะนำเหตุผลมาสนับสนุนอารมณ์นั้น!

apple-sloppy

Simon Sinek ยังยกตัวอย่างสินค้าอื่น ๆ เช่น ผงซักฟอก
ที่ถ้าเรามองแบบใช้เหตุผลว่าผู้ซื้อควรจะตัดสินใจซื้อที่ความสะอาดเป็นหลัก
เจ้าของผลิตภัณฑ์จึงระดมใส่ความขาวเป็นจุดขาย
ทีนี้พอไปทำความเข้าใจ (Empathize) ผู้ใช้ (User) จริง ๆ
กลับพบว่าไม่มีใครชูผ้าขึ้นมาส่องหลังจากซักเสร็จ
แต่กลับใช้วิธีดมเพื่อพิสูจน์ว่าผ้าสะอาดไหม
คนซื้อใช้ความรู้สึกสะอาดเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจ

หรืออีกกรณีเป็นรถสัญชาติเยอรมันที่พยายามมาตีตลาดรถอเมริกา
มาด้วยความเชื่อว่ารถที่ดีควรมีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยม
แต่พวกเขาก็ประหลาดใจเมื่อพบว่าผู้ขับขี่ตัดสินใจซื้อส่วนหนึ่งเพราะการที่รถมีที่วางแก้วน้ำ
สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในงานวิจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์มาก่อน
แต่เพราะเขากำลังขายรถให้กับผู้ซื้อชาวอเมริกัน (User) ที่มีนิสัยรักการขับรถเดินทาง

หมายเหตุ – สำหรับใครที่สนใจเรื่องการเข้าอกเข้าใจลูกค้า (Empathize) ใน Design Thinking
ซึ่งเป็นกระบวนการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน
Design Thinking กำหนดให้ผู้สัมภาษณ์มองหาประสบการณ์ ความรู้สึก ของกลุ่มเป้าหมาย (User)
ด้วยการเล่าเรื่องราว (Stories) ที่เน้นความรู้สึกของผู้ใช้
เพราะนั่นเป็นตัวบอกการตัดสินใจเกี่ยวกับความรักชอบผลิตภัณฑ์จาก Limbic Brain

design thinking

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ทำให้นึกถึงบรรดาน้ำหอมแบรนด์เนมต่าง ๆ ที่อย่างไรก็นึกไม่ออกว่าถ้าต้องใช้เหตุผล ตรรกะมาตัดสินใจ เราจะซื้อไหม
สมองส่วนไหนของเราที่ทำงานหลังจากเห็นรูปด้านล่างนี้คะ 🙂

dior

เดี๋ยว blog ถัดไปเก๋จะมาเล่าถึง Application ของหนังสือเล่มนี้ค่ะ
ว่านำไปใช้ทั้งในเรื่องของธุรกิจและการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจอย่างไรได้บ้าง

<อัพเดต> ติดตามอ่านตอนที่ 2 ได้แล้วที่ลิงค์นี้ค่ะ

เครดิตภาพ
https://appletoolbox.com/2017/12/apple-plan-for-2018/
https://dschool.stanford.edu